เต้าหู้ กับ กวนอู และ ดีเกลือ กับ เจียะกอ ตอนที่ 1

 

ในบทความนี้ เมื่อคุณเห็นชื่อเรื่อง คุณอาจสงสัยว่ามันคือเรื่องอะไรกัน ในตอนแรกผมกำลังมองหาว่าจะเลือกเอาบทความไหนมา upload ลงใน blog เรื่องสัพเพเหระ นี้ก่อนดี ที่ผมเตรียมเอาไว้ก่อนหน้านี้อยู่หลายบทความก็คิดว่าจะชะลอเอาไว้ก่อน เพราะมีเรื่องที่ต้องเขียนขึ้นมาใหม่คือเรื่อง เต้าหู้ กับ กวนอู และ ดีเกลือ กับ เจียะกอ ตอนที่ 1 เรื่องของเรื่องก็คือว่า ในสองวันมานี้ผมอยากกิน เต้าหู้ เลยไปหาซื้อ เต้าหู้ มาทำกิน ในวันที่สองผมก็กลับไปซื้ออีก คนขายซึ่งเป็นเพื่อนกับผมได้บอกว่า มีชายชาวจีนคนหนึ่งกิน เต้าหู้ ทุกวันติดต่อกันนานนับสิบปีเลย เพราะไม่อยากอ้วน จนมาวันหนึ่งเกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คุณหมอได้ตรวจพบว่ามี ก้อนนิ่วอยู่ในไตเป็นจำนวนมาก จนต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนนิ่วนี้ออก หลังการผ่าตัด พบว่ามีก้อนนิ่วที่อัดแน่นอยู่ในไตของชายผู้นี้อยู่มากกว่า 400 ก้อน ซึ่งเป็นกรณีที่คุณหมอไม่เคยพบเห็นมาก่อน และสันนิฐานว่า เป็นเพราะนายคนนี้กิน เต้าหู้ มากเกินไปนั่นเอง เพื่อนของผมยังเล่าต่อไปอีกว่า ในเรื่อง สามก๊ก โจโฉยังไม่กิน เต้าหู้ เลย และเล่าสาเหตุให้ผมฟังอยู่เป็นนาน ผมเคยแต่เข้าใจว่า เต้าหู้ เป็นของกินที่มีประโยชน์ ที่สำคัญเป็นอาหารในราชสำนักจีน ที่ไม่ใช่ใคร ๆ ก็จะหากินกันได้ง่าย ๆ เหมือนในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะอะไรกันหนอ จึงทำให้เกิด ก้อนนิ่วในไตได้

 


 

สำหรับเรื่อง สามก๊ก ที่ว่า โจโฉไม่กิน เต้าหู้ นั้นผมยังไม่ปักใจเชื่อนัก เพราะจำได้ว่าเคยอ่านบทความที่ อาจารย์ ทองแถม นาถจำนงที่เขียนเกี่ยวกับตำนานที่เล่าต่อ ๆกันมาว่า กวนอู เคยไปขอพักอาศัยกับคนขาย เต้าหู้ มาก่อน ครั้นจะไปขุดเอาหนังสือเรื่อง สามก๊ก มาอ่านเป็นรอบที่ 3 ก็เกรงว่าจะไม่มีคนคบหาสมาคมด้วย ก็เลย search หาบน internet ดูแทน ส่องไปส่องมาก็ไปเจอวิธีการทำ เต้าหู้ ที่มีส่วนผสมของ ผงหิน ดีเกลือ และ เจียะกอ ลงไปในกระบวนการผลิต ซึ่งคำอธิบายยังดูสับสนกันอยู่มาก ผมจึงต้องหาข้อมูลเพิ่มขึ้น จนเลยเถิดไปจนถึงเรื่อง การทำนาเกลือ ดอกเกลือ เกลือแกง เข้าไปโน่น กว่าจะถึงบางอ้อก็ใช้เวลานานพอสมควร นี้จึงเป็นที่มาของบทความเรื่อง เต้าหู้ กับ กวนอู และ ดีเกลือ กับ เจียะกอ
จริง ๆ ผมมี blog ที่ทำเป็นภาษาอังกฤษอยู่อีก 3 blog ทำไว้สำหรับหาตังกินขนม แต่ละบทความใน blog เหล่านั้นมักไม่เกิน 700 คำ แต่พอได้เขียนใน blog เรื่องสัพเพเหระ ในระยะหลัง ๆนี้ องค์ลงทุกที มันจะยืดยาวราว 2000 คำทุกครั้งไป ในบทความเรื่อง เต้าหู้ กับ กวนอู และ ดีเกลือ กับ เจียะกอ นี้ก็เช่นกันสงสัยจะยาวอีกแระ แค่เอาแต่ละคำใน ชื่อเรื่องนี้มาเขียนก็แยกไปได้คำละหลาย ๆบทความเลยทีเดียวครับ
เต้าหู้ กับ กวนอู และ ดีเกลือ กับ เจียะกอ ตอนที่ 1
กวนอู เลิกกิน เต้าหู้
หนังสือพงศาวดาร สามก๊ก เป็นหนังสือที่บรรดาหนอนหนังสือต้องหามาอ่านให้ได้อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง แต่ก็มีคนเคยกล่าวว่า อ่านสามก๊กครบสามจบคบไม่ได้ เพราะในเนื้อเรื่องจะมีกลยุทธิ เล่ห์เหลี่ยม หลุมพราง การหลอกล่อ ฉ้อฉล ไว้เต็มเล่มหนังสือ ทำให้มีการคาดเดาเอาไว้ว่า คนที่อ่านสามก๊กหลาย ๆรอบก็คงจะเป็นคนที่เต็มไปด้วยกลเล่ห์เพทุบาย จนไม่น่าคบหาด้วย แต่สำหรับผมแล้วคิดว่าหนังสือเรื่อง สามก๊ก นี้ ควรแนะนำให้ลูกหลานของท่านได้อ่านบ่อย ๆ โดยเฉพาะฉบับที่เรียบเรียงขึ้นโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ควรหามาอ่านกันคนละหลาย ๆรอบ เพราะโดยส่วนตัวผมคิดว่า เป็นฉบับที่มีการใช้ภาษาไทยได้อย่างดีเยี่ยม เหมาะที่จะใช้เป็นต้นแบบในเรื่องสำนวน และภาษา สำหรับเด็ก ๆเป็นอย่างยิ่ง จึงควรมีฉบับนี้เก็บไว้ในตู้หนังสือของบ้านครับ นอกจากฉบับนี้แล้ว ยังมี สามก๊ก ฉบับวนิพก ของยาขอบ ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ และ สามก๊ก แนววิจารณ์ที่เขียนขึ้นโดย คุณชาย คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่จั่วหัวหนังสือไว้ว่า โจโฉ นายกรัฐมนตรีตลอดกาล ซึ่งผมมีครบทั้งสามฉบับ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าคราใดที่ผมอาการอ่อนเปลี้ยทางด้านการใช้ภาษาไทย ผมมักจะหยิบเอา สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาใช้เป็นยาทุเลาอาการทุกครั้งไป
ที่มีเรื่องเล่าจะเป็นตำนาน หรือนิทาน ก็ตามทีว่า กวนอู ไม่กิน เต้าหู้ นั้น ผมเคยได้อ่านผ่านตามาเมื่อหลายปีก่อนในบทความของอาจารย์ ทองแถม ที่เขียนเล่าเอาไว้ ผมจึงค้นหาบทความนั้นมาอ่านใหม่อีกครั้ง และก็จะขอนำมาเล่าเรื่องในแบบของผม จากเค้าโครงนั้นดังนี้ว่า เมื่อครั้งนั้น กวนอู ที่อยู่ในวัยหนุ่ม ไฟแรง และเต็มไปด้วยอุดมการณ์ รักความยุติธรรม เห็นอะไรไม่ชอบมาพากลก็จะต้องย่างเท้าเข้าไปแก้ไขให้สำเร็จเสร็จสิ้น จนเป็นเหตุให้มีเรื่องต้องอาญาแผ่นดิน ต้องหลบลี้หนีภัยอยู่หลายครั้งหลายครา คราวนี้หลบภัยมาอาศัยอยู่กับเถ้าแก่ร้านขาย เต้าหู้ ทำหน้าที่ทั้งแผนกผลิต และแผนกขาย วันหนึ่งขณะที่กำลังขาย เต้าหู้ อยู่นั้น ก็ได้เกิดการโต้เถียงกับ คนขายน้ำตาล ที่กล่าวหาว่า กวนอู หลอกลวง เอาน้ำมาปั้นเป็นแผ่น มาหลอกขายชาวบ้านเขา และด้วยเหตุที่ไม่ยอมจำนนต่ออะไรง่าย ๆ กวนอู จึงโต้ตอบกลับไปว่าคนขายน้ำตาลนั้นก็เป็นคนหลอกลวง เพราะน้ำตาลเมื่อนำไปใส่ใน หม้อ หรือ กระทะ ก็ละลายกลายเป็นน้ำเช่นกัน เท่ากับคนขายน้ำตาลก็หลอกขายลม ขายอากาศให้กับชาวบ้าน ไอ้คนขายน้ำตาลก็ยังคงยอกย้อนอย่างไม่ลดราวาศอกว่า น้ำตาลที่ละลายในหม้อ ถ้าเคี่ยวไปจนแห้งก็จะได้เกล็ดน้ำตาลนั้นกลับคืนมา จะเป็นการหลอกลวงได้หรือไฉน ส่วน เต้าหู้ ที่ลื้อขายอยู่นี้ เอาไปตากแดด ตากลม หรือต้มไฟ มันจะเปลี่ยนกลับไปกลับมาเป็นน้ำ หรือเม็ดถั่วเหลืองได้หรือเปล่า ผมคิดว่า กวนอู ก็คงขี้เกียจจะไปเถียงกับไอ้บ้านั่นให้เป็นเรื่องเอิกเกริก เพราะตัวเองก็มีคดีเป็นชนักปักหลังอยู่ ถ้ามัวเถียงกันไป เถียงกันมาก็อาจจะยั้งเท้าไว้ไม่ทัน จนทำให้มีของแถมเป็นคดีความเพิ่มมาอีกคดีหนึ่งโดยไม่จำเป็น อย่ากระนั้นเลยเลิกขาย เลิกกินมันเสีย ให้สิ้นเรื่องสิ้นราวกันไป แต่ถ้าคดีหมดอายุความเมื่อไร จะเอาถั่วเหลืองดิบยัดปากมันสักหนึ่งกิโล และตามด้วยน้ำตาลสักสองกิโล และแช่งให้มันเป็นทั้ง โรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคหัวใจไปซะเลย ถึงตอนนี้เราก็ได้รู้สาเหตุที่ว่าทำไมกัน ท่าน กวนอู จึงไม่กิน เต้าหู้ กันซะที ส่วนคนที่เคยถวายท่านด้วย เต้าหู้ ก็อย่าได้เป็นกังวลไปจนเกินเหตุ เรื่องจะจริงเท็จอย่างไรเราก็ไม่อาจจะรู้ได้ หากทว่าท่านไม่ชอบกิน เต้าหู้ นั้นจริง ๆ ท่านก็คงจะนำไปแจกจ่ายบริวารของท่านที่ชอบกินก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเชียว
เต้าหู้ กับ กวนอู และ ดีเกลือ กับ เจียะกอ ตอนที่ 1
สองตำนาน เต้าหู้ อุบัติขึ้นโดยบังเอิญจริงหรือ ?
ใครกันที่เป็นคนค้นคิดวิธีการทำ เต้าหู้ มีการเล่าขานกันไว้เป็นสองตำนาน ตำนานแรกเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในวังหลวง ส่วนอีกตำนานนั้นเกิดในชนบทแห่งหนึ่ง แต่ที่เหมือนกันก็คือ เต้าหู้ ที่อุบัติขึ้นในทั้งสองตำนานนี้ เกิดจากความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
ตำนาน เต้าหู้ ฉบับราชสำนัก
เล่ากันมาว่าตอนต้นราชวงศ์ฮั่น หลิวอัน ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของ พระเจ้าหลิวปัง ต้องการปรนนิบัติแม่ที่แก่ชรา ซึ่งล้มป่วยลง และกินนอนไม่ได้ จึงพยายามหาวิธีปรุงอาหารเพื่อมาบำรุงมารดาของตน จึงไปนำถั่วเหลืองสุก มาบดจนเป็นน้ำนม เพื่อให้แม่ของเขากิน บากบั่นปรับปรุงทั้งเรื่องกากถั่วเหลืองที่มีมากจนเกินไป และรสชาติที่จืดชืดไม่อร่อย เพื่อที่จะให้ถูกใจมารดา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถทำให้แม่ของเขาพึงพอใจได้ ขณะที่กำลังหมดอาลัยตายอยากอยู่ข้างถังน้ำนมถั่วเหลืองอยู่นั้น ถุงปูนขาว หรือถุงเกลือก็มิอาจทราบได้ บังเอิญร่วงหล่นมาในถังน้ำนมถั่วเหลือง ทำให้น้ำนมจับตัวกันเป็นก้อน เขาจึงลองชิมดู แล้วพบว่ามีรสชาดดี จึงนำไปให้มารดากิน แม่ของเขาก็ชื่นชมอยู่ไม่ขาดปากว่า นี่มันอะไรกันหนอ ช่างอร่อยล้ำเลิศเสียนี่กระไร ด้วยเหตุบังเอิญนี่แท้เชียวที่ทำให้ เต้าหู้ ได้อุบัติขึ้นบนผืนพิภพนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตำนาน เต้าหู้ ฉบับประชาชน 
นี้เป็นอีกตำนานที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เรื่องก็มีอยู่ว่า มีเพื่อนรักสองคน ได้เดินทางมาเข้ารับการฝึกฝนวิทยายุทธิกับอาจารย์ผู้มีชื่อ แต่ทั้งสองมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกันอยู่มาก ซุนปิง เป็นคนอ่อนน้อม ถ่อมตน มีสัมมาคารวะ ในขณะที่ ผางเจี้ยน เป็นคนดุร้าย โอ้อวด มักใหญ่ใฝ่สูง ทำให้อาจารย์รักใคร่ เอ็นดู ซุนปิง มากกว่า สร้างความริษยาให้กับ ผางเจี้ยน ตลอดมา กระทั่งวันหนึ่ง อาจารย์ได้ล้มป่วยลง กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นเหตุให้ ซุนปิงทุกข์ใจเป็นอันมาก หาทางที่จะปรุงอาหารมาเพื่อบำรุงอาจารย์ของตน จึงได้นำถั่วเหลืองมาบดจนเป็นน้ำนม ใส่ถังไว้ แล้วนำมาต้มจนเดือด จากนั้นก็พักถังน้ำนมถั่วเหลืองไว้ข้างโขดหินที่ชาวบ้านมักนำเกลือมาตาก ซุนปิงได้เผลอหลับไป พอตกดึกน้ำค้างที่เกาะอยู่บนโขดหิน ได้ละลายคราบเกลือไหลลงสู่หม้อน้ำนมถั่วเหลือง ซุนปิงตื่นขึ้นมาพบว่า น้ำนมถั่วเหลืองในถังได้จับตัวกันเป็นก้อนเล็ก ก้อนน้อย จึงช้อนขึ้นมาชิมดู พบว่ามีรสชาดดี จึงนำไปให้อาจารย์กิน เขาได้รับคำชื่นชมจากอาจารย์เป็นอย่างมาก ยิ่งสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับผางเจี้ยนเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวี จึงวางแผนคิดจะกลั่นแกล้งคู่ดูโอ ศิษย์และอาจารย์คู่นี้ให้จงได้
 
คืนหนึ่งหลังจากคั้นน้ำนมถั่วเหลืองใส่ถังเรียบร้อยแล้ว ซุนปิง ก็นำถังน้ำนมถั่วเหลืองไปวางไว้ข้างโขดหินเช่นเคย แล้วเผลอหลับไป ( ครั้งนี้คงไม่ได้เผลอ คงตั้งใจไว้อยู่แระ เรื่องนอนหลับ ซุนปิง ชอบมาก ) ส่วนเจ้า ผางเจี้ยนก็ร้อนรน ไฟสุมรุมหัวอก ไม่ยอมหลับ ไม่ยอมนอน ได้จังหวะพอดิบพอดี ไปหาหินสบู่ เอามาขูดเป็นผง แล้วนำมาวางไว้บนโขดหินแทน หวังว่าเมื่อน้ำค้างชะเอาหินสบู่ตกลงไปในถังน้ำนมแล้ว ถ้าอาจารย์กินเข้าไป อาการป่วยที่เป็นอยู่นอกจากจะไม่ทุเลาแล้ว อาจทำให้เจ็บป่วยมากขึ้นไปอีก ซุนปิง พอตื่นขึ้นมา ก็ตั้งหน้าตั้งตาช้อนเอาก้อนน้ำนม เพื่อนำไปให้อาจารย์กิน คราวนี้ก้อนน้ำนมถั่วเหลืองช่างอ่อนนุ่มละมุนลิ้น แม้จะมีรสขื่นขมปนอยู่บ้าง แต่ก็อร่อยสะใจอาจารย์จริง ๆ อาการเจ็บป่วยของอาจารย์ ก็เริ่มดีวันดีคืน จนหายป่วยแข็งแรงเป็นปกติ ต่อมาสูตรลับการทำ เต้าหู้ ก็ถูกเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง
ดูเหมือนว่า เต้าหู้ ได้เกิดขึ้นมาด้วยเหตุบังเอิญจริง ๆ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องสำคัญ ๆ บางครั้งก็เกิดขึ้นจากเหตุบังเอิญเช่นกัน ถึงตอนนี้คุณอาจสงสัยว่า เขาใส่อะไรลงไปในน้ำนมถั่วเหลืองกันแน่ ถึงทำให้เกิดเป็นก้อนเต้าหู้ขึ้นมาได้ มาดูกันในตอนต่อไปครับ สำหรับวันนี้ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *