ช้าง: เป็นสัตว์บกที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่จัดได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในประเทศไทยถือว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และมีความผูกพันกับคนไทยมาอย่างยาวนาน การดำรงอยู่ของช้างไทยในสมัยโบราณอยู่ในสถานะที่สำคัญเทียบเคียงได้พอ ๆกับคน เพราะช้างถือว่าเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนเพื่อปกป้องเอกราช สืบทอดแผ่นดินไทยมาจวบจนปัจจุบัน บางพื้นที่จึงได้วางช้างไว้ในตำแหน่งสัตว์ศักดิ์สิทธิ การกระทำการอันใดที่เกี่ยวกับช้าง จึงมักมีพิธีกรรมสำคัญเข้ามาร่วมด้วยอยู่เสมอ
ช้างมีสมองขนาดมหึมา แม้ว่าช้างแอฟริกาจะมี ร่างกายใหญ่โตกว่าช้างเอเชีย แต่กลับพบว่าขนาดสมองกลับเล็กกว่า จึงดูเหมือนว่าช้างเอเชียจะฉลาดกว่า และฝึกสอนได้ง่ายกว่ามาก พฤติกรรมของช้างจะแสดงไปได้อย่างสอดคล้องกับระดับสติปัญญาของมันอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านอารมณ์เช่น รัก เศร้าโศก สงสาร ไปจนถึงด้านการพัฒนาการด้านต่าง ๆเช่น การเล่น การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆที่มนุษย์สอนให้ เป็นต้นว่าฟุตบอล ภู่กัน กลอง ทำให้มันแสดงความสามารถได้ในด้านศิลปะ และดนตรีได้อย่างชาญฉลาด และเป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่าช้างนั้นมีโครงสร้างสมองที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ พบว่าสมองของช้างมีความซับซ้อน แถมมีรอยหยัก หรือรอยพับมากกว่าสมองของมนุษย์เสียอีก และยังพบอีกว่าจำนวนเซลประสาท ก็มีมากเท่า ๆกับของมนุษย์ หากมันเห็นภาพของตัวมันเองในกระจก มันจะสามารถตะหนักรู้ได้ในทันทีว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพสะท้อนของตัวมันเองในกระจก ในขณะที่สัตว์ชนิดอื่นยังคงกังขาว่าสิ่งที่มันเห็นในกระจกนั้นเป็นอะไร
ควาญมะ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่มีความสนใจในคชศาตร์ ผู้ที่ประสงค์จะเป็นมะ ต้องสมัครใจเข้าร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆตั้งแต่เริ่มต้น และถือปฏิบัติตามจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ในสมัยก่อนจะทำหน้าที่แบกหาม หุงหาอาหาร และรับใช้งานทั่วไปให้กับผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า
ครูบา หรือปะกำหลวง เป็นหมอสะดำที่เคยคล้องช้างป่ามาได้ไม่น้อยกว่า 20 เชือก มีความชำนาญทางด้านคชลักษณ์ และพิธีกรรมต่าง ๆ จะได้รับการประชิ เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นครูบา จะเป็นที่เคารพยำเกรงของควาญ และหมอช้าง มีอำนาจในการระงับข้อขัดแย้ง และชำระความผิดของควาญ และหมอช้างทุกคน เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมสูงสุดในการคล้องช้างป่าแต่ละครั้ง