ศาลปะกำ เชือกปะกำ พันธนาการของคนกับช้างที่มิอาจเลือนหาย

 ความเชื่อเกี่ยวกับ ศาลปะกำ และเชือกปะกำสำหรับคนเลี้ยงช้าง น่าจะเป็นคำตอบที่ว่าทำไมเราจึงเห็นเด็กหนุ่ม หรือแม้แต่คนแก่เฒ่ายังคงเดินจูงเที่ยวพาช้างเร่ร่อนให้พบเห็นอยู่ทั่วไป ความศรัทธาของหมอช้างที่มีต่อศาลปะกำ และเชือกปะกำ กับความผูกพันระหว่างคนเลี้ยงช้างกับช้าง เป็นดั่งคำมั่นสัญญาที่มิอาจปล่อยให้เลือนหายไปได้โดยง่ายดาย เหล่าบรรดา หมอช้าง และควาญช้างไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เขมร ลาว หรือกูย ต่างก็มีความเชื่อในเรื่องผีปะกำ หากผู้ใดก็ตามละเลยในการดูแลเอาใจใส่ช้าง หรือทำร้ายทุบตีช้าง จะต้องถูกผีปะกำลงโทษให้เขา หรือคนในครอบครัวต้องล้มป่วยลง หรืออาจทำให้ช้างไม่เชื่อฟัง และอาละวาดคลุ้มคลั่งทำร้ายเจ้าของหรือคนรอบข้างได้

ศาลปะกำ เป็นที่เก็บเชือกบาศก์ หรือเชือกปะกำที่ทำเป็นบ่วงสำหรับใช้ในการคล้องช้างป่า โดยเชือกปะกำนี้ทำมาจากหนังควายตากแห้งจำนวน 3 เส้นนำมาควั่นให้เป็นเกลียวจนได้ความยาวประมาณ 20-40 เมตร โดยปลายข้างหนึ่งทำเป็นบ่วงบาศก์ไว้สำหรับคล้องช้างป่า เชือกปะกำสำหรับหมอช้าง และครอบครัวคนที่ทำงานเกี่ยวกับช้าง ถือว่าเป็นของสูงอันเป็นมงคลยิ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการคล้องช้างป่า การทำเชือกปะกำจึงต้องสงวนไว้ให้เฉพาะครูบา หรือหมอช้างผู้รู้มนต์วิเศษเป็นผู้ทำเท่านั้น ในเชือกปะกำแต่ละเส้นจะมีการอัญเชิญดวงวิญญาณของครูบาอาจารย์ ผีบรรพบุรุษที่เคยเป็น ครูบา หรือหมอช้างต้นตระกูลให้มาสิงสถิตอยู่ ควาญ และหมอช้างต่างก็มีความเชื่อว่าเป็นเชือกที่ศักดิ์สิทธ์ คนเลี้ยงช้างในแต่ละตระกูลก็จะมีเชือกปะกำประจำตระกูลของตน และจะมีไว้ใช้เฉพาะตระกูลของตนเท่านั้น เป็นของมงคลที่คนในครอบครัวต้องให้ความเคารพนับถือ และเชื่อกันว่า ผีปะกำจะดลบันดาลให้เกิดความโชคดี ทำกิจการงานต่าง ๆได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

 

 
 
บุคคลในครอบครัวหากต้องการทำกิจอันใดที่เกี่ยวข้องกับช้างเช่น การคล้องช้าง การตัดงาช้าง การฝึกช้าง หรือการนำช้างไปทำงานต่างถิ่น หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเชือกปะกำ จะต้องทำพิธีเซ่นไหว้เชือกปะกำเพื่อบอกกล่าวขอพรจากผีปะกำเสียก่อน กิจการงานต่าง ๆจะได้สัมฤทธิผล นอกจากนี้จะต้องมีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี มีความเชื่อ และความศรัทธากันเป็นอย่างมากในหมู่คนเลี้ยงช้างว่า ถ้าหากเซ่นไหว้ผีปะกำไม่ดีจะทำให้เกิดเหตุร้าย เป็นอัปมงคลกับคนในครอบครัว หรือแม้แต่ช้างที่เลี้ยงดูเอาไว้
พิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ
 
 
 
การเซ่นไหว้ผีปะกำประจำปีมักจะทำพิธีที่ศาลประกำประจำตระกูล แต่หากมีการเคลื่อนย้ายเชือกปะกำด้วยเหตุว่ามีกิจบางอย่างก็จะทำการเซ่นผีปะกำกันนอกศาลปะกำ เครื่องเซ่นไหว้ผีปะกำที่จำเป็นต้องใช้มีดังนี้
::: ไก่ต้ม 1 ตัว
::: เหล้าขาว 1 ขวด
::: เทียน 1 คู่
::: หมาก 2 คำ
::: บุหรี่ 2 มวน
::: กรวยใบตอง พร้อมดอกไม้
::: ขมิ้นผง
::: ด้ายดำ และด้ายแดง
::: น้ำเปล่า 1 ขัน
พิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ ทำกันในเช้าวันงาน เครื่องเซ่นจะถูกนำไปที่ศาลปะกำ หมอช้างที่เป็นประธานในพิธีจะทำการจุดธูป และเทียน เซ่นไหว้ผีปะกำบนศาลประกำ ซึ่งจะอนุญาตให้เฉพาะครูบา หมอช้าง และบุตรหลานของตระกูลที่เป็นผู้ชายเท่านั้นที่จะเข้าไปได้ บุคคลที่เหลือจะนั่งล้อมรอบศาลปะกำประกอบพิธีอยู่ด้านล่างได้เท่านั้น ศาลปะกำ และเชือกปะกำ เป็นของต้องห้ามสำหรับสตรี คือห้ามสตรีขึ้นไปบนศาลปะกำ หรือแตะต้องเชือกปะกำโดยเด็ดขาด เชื่อกันว่ามันผู้ใดฝ่าฝืนจะถึงกับเสียสติ เป็นบ้าเป็นบอกันไป
ในพิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ หมอช้างจะทำการเสี่ยงทายโดยการฉีกไก่ และทำการถอดกระดูกคางไก่เพื่อทำการทำนายถึงกิจการที่จะทำ ว่าจะสำเร็จลุล่วงอย่างไร
 
 
เมื่อว่างเว้นจากการใช้งาน เชือกปะกำจะถูกนำไปจัดเก็บไว้บนศาลปะกำ ทีถูกสร้างเป็นเรือนไม้ขนาดย่อมบนเสา 4 ต้นเหมือนศาลตายาย ยกพื้นสูงประมาณ 2 เมตร มีฝา ผนัง และหลังคากันแดด กันฝนได้ โดยมากจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ ในแต่ละตระกูลของคนเลี้ยงช้างจะมีศาลปะกำของตนเองอยู่ในบริเวณบ้าน ซึ่งต้องทำการเซ่นไหว้เป็นประจำอยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นการเตือนสติแก่บุคคลในครอบครัวให้เคารพนบนอบต่อดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิที่ถูกอัญเชิญมาสถิตอยู่ในเชือกปะกำของตระกูล และเตือนใจให้ปฏิบัติต่อช้างอย่างดี หากครั้งใดทำผิดต่อช้างต้องขึ้นไปกราบขอขมาต่อเชือกปะกำเส้นนั้น เส้นที่นำไปคล้องช้าง ไปพรากลูกพรากแม่เขาออกมาจากกัน ให้รีบกระทำโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นก็จะถูกสาปแช่งจากผีปะกำ ซึ่งเชื่อกันว่าคำสาปแช่งของดวงวิญญาณครูบา หรือหมอช้างต้นตระกูลนั้นรุนแรงมากยิ่งนัก
หากอยู่ในแวดวงของคนเลี้ยงช้าง หรือสนใจศึกษาหาข้อมูล ทำให้รู้ได้ว่าเรื่องของสัตว์ใหญ่อย่างช้างนี้หาใช่ธรรมดาเลย จำนวนช้างที่ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการล้มหายตายจากกันไปของครูบา อาจารย์เฒ่า เป็นเรื่องยากนักที่จะหาคนมาบอกเล่าให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนกับช้างผ่านเชือกปะกำเส้นแล้วเส้นเล่า เชือกปะกำที่ถูกควั่นเป็นเกลียว ยิ่งแน่นมากเท่าใด ความเอื้ออาทรต่อกันของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธ์ทั้งสอง ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ทุกวันนี้เราจึงยังคงเห็นคนกับช้างเดินเคียงข้างกันไปอย่างสุขใจเป็นเพราะเชือกปะกำเส้นนั้นเส้นเดียวแท้ ๆเชียว
สำหรับวันนี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ เช่นเคยครับ
 
 
 
 
 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *