นครวัด มนต์ขลังเมืองขอม
นครวัด อารยธรรมขอมโบราณ สิ่งปลูกสร้างที่เป็นหนึ่งในเจ็ด สิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตควรมาเยือน เมืองโบราณที่ยังคงความงดงามมากว่า 800 ปี มาดื่มด่ำกับวัฒนธรรมเขมรโบราณในบรรยากาศขลัง ๆ นครวัดถือว่าเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีขนาดโดยประมาณ 1626000 ตารางเมตร หรือถ้าคิดแบบไทย ๆก็ประมาณพันกว่าไร่ ในบทความนี้ มีส่วนหนึ่งที่ฝรั่งตั้งข้อสังเกตุไว้ มีหนังสือดี ๆที่นักค้นคว้าชาวไทย ได้เขียนไว้อย่างน่าอ่าน ศิลปะเขมรนี้ ไม่เพียงแต่งดงาม แต่ยังแฝงไปด้วยความลึกลับ ชวนให้ค้นหา ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองในเขมร ศิลปะโบราณล้ำค่า ถูกยักย้ายถ่ายเทไปทั่วทุกมุมโลก ชวนให้สังเวชใจ อย่างไรก็ดี ที่การบูรณะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่คุณค่า และความงดงาม ก็ยังมีให้เห็นอยู่ บนปฏิมากรรมที่ผุกร่อนนั้นไปชั่วนาน มีหนังสือแนะนำที่ด้านบน
ใครสร้างนครวัด
ราวต้นศตวรรษที่ 12 พระเจ้าสุริยวรมันต์ ที่ 2 กษัตริย์แห่งกัมพูชาได้ทรงริเริ่มสร้างขึ้น โดยแต่เริ่มเดิมทีทรงสร้างให้เป็นเทวสถานเพื่อถวายแด่พระนารายณ์ เทพเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพในศาสนาฮินดู ต่อเมื่อจักรวรรดิเขมรได้มีการเปลี่ยนแปลงไป พระพุทธศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนเขมร นครวัดจึงได้กลายไปเป็นวัดในพระพุทธศาสนาแทนในราวปลายศตวรรษที่ 12 นครวัดเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญที่อุดมไปด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิก และศิลปะเขมรชั้นสูง ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชาในเวลาต่อมาซึ่งจะเห็นปรากฏอยู่บนธงชาติของกัมพูชา นับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศที่นักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาดอย่างเด็ดขาด
นครวัดได้ถูกออกแบบมาให้เปรียบเสมือนว่าเป็นเขาพระสุเมรุในตำนานของชาวฮินดูจึงมีความยิ่งใหญ่ที่ประกอบไปด้วยศิลปะการแกะสลัก และการปั้นนูน ที่เป็นศิลปะชั้นสูงของชาวเขมรโบราณ เพื่อให้สมกับที่เป็นเทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระนารายณ์ แต่ดั้งเดิมเทวสถานแห่งนี้มีชื่อเรียกกันว่า Vrah Visnuloka ในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง ที่พำนักอันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระวิษณุ นครวัดเป็นสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ และงดงามในแบบที่ไม่สามารถจะบรรยายเป็นภาษาเขียนได้อย่างถี่ถ้วนเลย เว้นแต่จะได้เห็นด้วยตาของตนเองว่าชาวเขมรโบราณมีความสามารถที่จะสร้างสถานที่แห่งนี้ได้อย่างงดงามเทียบเคียง หรือยิ่งกว่าสถาปัตยกรรมของชาวกรีกโรมันเสียอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจแม้ว่าเราจะไม่ใช่ชาวกัมพูชาก็อดที่จะยินดีร่วมไปกับเขาด้วยไม่ได้ นครวัดได้ถูกคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกในปี พุทธศักราช 2535
นครวัด ยิ่งใหญ่ งดงาม และภาคภูมิ
นครวัดถือว่าเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก ที่ก่อสร้างโดยช่างชาวเขมรที่มีความชำนาญ ก่อสร้างโดยใช้หินทราย และศิลาแลงเป็นวัสดุหลักโดยเชื่อมต่อหินแต่ละก้อนด้วยเรซิ่นธรรมชาติ หรือปูนขาว มีการทำร่องเจาะรูเพื่อเข้าสลักในหินแต่ละก้อน มีการสำรวจไว้ว่าต้องใช้บล็อกหินทรายในการก่อสร้างครั้งนี้ถึง 10 ล้านก้อน และบางก้อนอาจมีน้ำหนักถึง 1.5 ตันเลยทีเดียว นอกจากนี้นครวัดยังมีการวางผังได้อย่างเป็นระเบียบ มีความโดดเด่น และสง่างาม รูปปั้นนูนต่ำ หรือรูปแกะสลักก็ทำได้อย่างอ่อนช้อยงดงาม โดยภาพหินแกะสลักมักเป็นเรื่องราวในรามเกียรติ ซึ่งเชื่อได้เลยว่านครวัดหลังจากที่สร้างเสร็จใหม่ ๆคงจะงดงามชวนพิศวงเป็นอย่างมาก
นครวัดถูกล้อมรอบไปด้วยป่า และมีร่องรอยการถูกทำลายจากรากของต้นไม้ใหญ่ หลังจากสาบสูญไปกว่า 400ปีได้ถูกค้นพบเมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทวสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะล้อมรอบด้วยคลองที่มีความกว้างพอ ๆกับสนามฟุตบอลสองสนามมาวางต่อกันโดยคลองนี้ไม่ใช่เป็นคลองธรรมชาติ แต่เป็นคลองที่มนุษย์สร้างขึ้นเมื่อ 800 ปีก่อน เมื่อข้ามคลองไปแล้วจะถึงประตูหลักที่จะพาเราไปสู่ดินแดนแห่งเทพเจ้าที่ยังคงอบอวนไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมฮินดู เป็นเทวสถานที่สร้างให้เห็นจักรวาลแบบย่อส่วนของชาวฮินดูที่มีวิหารนครวัดเป็นแกนกลางเปรียบว่าเป็นเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระนารายณ์บนพื้นที่รวมแล้วกว่าหนึ่งพันไร่ ล้อมรอบไปด้วยคูน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเราสามารถที่จะชื่นชมความงดงามอลังการได้ตั้งแต่บนสะพานข้าม นักเลงกล้องสามารถไปตั้งกล้องถ่ายรูปได้ตั้งแต่เช้าตรู่เป็นรางวัลสำหรับคนตื่นเช้า
เมื่อเข้ามาถึงกำแพงชั้นแรกจะเห็นว่าบนผนังกำแพงถูกประดับประดาไปด้วยภาพแกะสลักแบบนูนต่ำบนผนังหินทรายขนาดใหญ่โดยภาพส่วนใหญ่เป็นภาพเกี่ยวกับตำนานของชาวฮินดู ที่สำคัญยังปรากฏภาพของพระเจ้าสุริยวรมันต์ที่ 2 ผู้ที่สร้างนครวัดอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ด้วย ว่ากันว่าพระองค์ทรงเกณฑ์ผู้คนจำนวนมากกว่า 50000 คนเพื่อก่อสร้างเทวสถานแห่งนี้ โดยใช้เวลาไปกว่าครึ่งศตวรรษจึงจะสำเร็จ นครวัดในส่วนที่เป็นวิหารที่มียอดสูงที่สุดนั้นวัดได้สูงถึง 213 ฟุต และต้องใช้หินมากพอ ๆกับที่ต้องใช้ในการสร้างปิรามิดหนึ่งปิรามิดเลยที่เดียว ถ้ามองดูวิหารพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เรามองเห็นนั้นเป็นหินทรายที่จะบดบังหินศิลาแลงเอาไว้ โดยหินแต่ละก้อนจะถูกสกัด และขัดสีให้ได้ขนาดที่สามารถซ้อนทับกันได้อย่างพอดิบพอดีโดยไม่ต้องเชื่อมต่อด้วยสิ่งแปลกปลอมใด ๆเลย การที่จะขึ้นไปจนถึงยอดวิหารอันเป็นวิมานของเทพเจ้านั้นต้องผ่านบันไดที่ทั้งสูงและชันเป็นอย่างมาก ที่มีการสร้างแบบนี้เพราะเชื่อกันว่าต้องการให้เกิดความยากลำบากในการที่จะลุกล้ำเข้ามาในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพเจ้า ซึ่งในสมัยนั้นผู้ที่จะสามารถขึ้นไปถึงยอดสูงสุดได้ก็มีเพียงพระมหากษัตริย์ และพราหมณ์ผู้มีความสำคัญเท่านั้น
การกำเนิด และล่มสลาย
สันนิฐานกันว่าที่วัฒนธรรมฮินดูได้แผ่ขยายสู่ดินแดนกัมพูชาได้นั้นเนื่องมาจากที่ชาวอินเดียที่เป็นต้นกำเนิดศาสนาฮินดูได้ล่องเรือเดินทะเลเพื่อมาทำการค้าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าพำนักในดินแดนแถบนี้เพื่อรอเวลาที่มรสุมจะพัดพาพวกเขากลับบ้านซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ระยะเวลานี้นานมากพอที่จะทำให้วัฒนธรรมของพวกเขาสามารถลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง และแทรกซึมเข้ามาในหมู่ชาวพื้นเมืองได้โดยไม่ยากเลยครับ
หลังจากเวลาล่วงเลยไปประมาณ 200 ปี พระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 ขึ้นเสวยพระราชอำนาจเป็นกษัตริย์ขอม ศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้ามาในดินแดนส่วนนี้ และได้เจริญงอกงามอย่างกว้างไกลทั้งในพม่า ไทย และเวียดนาม ไม่เว้นแม้แต่กัมพูชา ทำให้พระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 ทรงเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงการที่ทำให้ผู้คนในราชอาณาจักรนั้นหันมาศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา อันเป็นที่มาของการล่มสลายลงของวัฒนธรรมฮินดูในดินแดนนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้นครวัดหายสาบสูญไปกว่า 400 ปี ในประวัติศาสตร์ของเขมรถือว่า พระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 เป็นผู้ที่รวมชาติเขมรให้เป็นปึกแผ่น สร้างความแข็งแกร่งรุ่งเรืองให้กับประเทศเป็นอย่างมาก มีเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับพระองค์มาฝากนิดหน่อย คือพระองค์เป็นผู้ริเริ่มให้สร้างปราสาทบายนต์ ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีรูปสลักพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าอยู่มากกว่า 200 เศียร ในปราสาทแห่งนี้ปรากฏภาพของพระองค์กำลังต่อสู้กับงูยักษ์ เป็นภาพนูนต่ำบนกำแพง และการต่อสู้ครั้งนั้นทำให้พระองค์ถูกงูกัดจนทำให้ติดโรคเรื้อน จึงมีดำริให้สร้างโรงพยาบาลทั่วราชอาณาจักรนับร้อยแห่งเพื่อใช้รักษาราษฏรที่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยทรงมีพระดำรัสว่า “ข้าพเจ้าต้องรักษาร่างกายของชาวบ้านที่อยู่ข้างล่างให้สมบูรณ์แข็งแรงเสียก่อน ส่วนตัวข้าพเจ้ายังไม่จำเป็น” พระเจ้าชัยวรมันต์ที่ 7 เป็นผู้นำในการทำสงครามกับพวกจาม ( เวียดนาม ) และได้รับชัยชนะสามารถขับไล่พวกจามออกจากดินแดนนี้ได้สำเร็จสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นให้กับเขมรมาตราบเท่าทุกวันนี้ ในครั้งนั้นทำให้ประชาชนกว่าหนึ่งล้านคนรอบนครวัดหันมาเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนิกชนตามพระองค์ อิทธิพลของขอมจึงลดบทบาทลงเป็นอย่างมาก
ชาวเขมรถือว่าเป็นลูกหลานของกษัตริย์ผู้ที่สร้างนครวัดแห่งนี้ เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากครับที่ในสังคมชนบทที่มีสภาพเป็นป่าเขาผู้คนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไม่ได้มีการใช้เครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัยอะไรแต่ทำไมถึงสามารถสร้างปฏิมากรรมที่ยิ่งใหญ่และสวยงามได้ รอบ ๆวิหารนครวัดนั้นมีรูปปั้นของกองทัพนางอัปสรมากกว่า 1000 รูปที่ถูกแกะสลักอยู่บนก้อนหินทรายที่ต้องถูกวางซ้อนทับกันมาก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นช่างแกะสลักดูเหมือนว่าจะมีโอกาสอยู่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในการแกะรูปนางอัปสรให้สมบูรณ์งดงาม และต้องไม่ให้เกิดสิ่งที่ผิดพลาดใด ๆได้เลย เชื่อกันว่าก้อนหินทรายที่นำมาสร้างนครวัดนั้นมาจากแม่น้ำเขาพนมกุเลน ( Phnom Kulen ) ซึ่งมีการคาดเดาว่าเคยเป็นเหมืองหินทรายมาก่อนเมื่อ 800 ปีที่แล้วครั พบร่องรอยการขุดเอาก้อนหินขึ้นมารอบ ๆบริเวณแม่น้ำสายนี้ จากนั้นก็นำก้อนหินใส่แพล่องมาตามแม่น้ำเพื่อนำมาขึ้นบกใกล้ ๆกับสถานที่ก่อสร้างนครวัดโดยมีช้างเป็นกำลังสำคัญในการขนย้ายก้อนหินขนาดใหญ่นี้ คะเนกันว่าต้องใช้ช้างถึง 40000 เชือก อนุมานได้ว่า บริเวณป่าแถบนี้คงจะอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของกองทัพช้างได้เป็นอย่างดี
พื้นที่รอบ ๆนครวัดแห่งนี้ น่าจะมีผู้คนเขมรโบราณอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะปรากฏภาพแกะสลักนูนต่ำ อยู่บนผนังหินทรายในวิหารนครวัด เป็นภาพการกะเกณฑ์ผู้คน ทหาร ภาพวิถีชีวิตชาวบ้านที่นำสิ่งของมาซื้อขายแลกเปลี่ยนคล้าย ๆกับตลาดนัดทำนองนี้ หากทว่าการที่จะหล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนมาก ต้องมีการจัดการที่ดีเยี่ยม ความสำเร็จของชาวเขมรในยุคโบราณนั้นมาจากการบริหารจัดการ ระบบทางเดินน้ำที่ดีมาก ๆ มีร่องรอยของการสร้างทางเดินน้ำ คลอง ทีเป็นเครือข่ายทางเดินน้ำโบราณ ที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์โดยผันน้ำมาจากแม่น้ำเสียมราช ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ช่วยเติมเต็มนาข้าวจำนวนหลายร้อย หลายพันตารางกิโลเมตร บนที่ราบลุ่มรอบ ๆนครวัดแห่งนี้มาจวบจนถึงปัจจุบัน โตนเลนสาบเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มันทำหน้าที่ลำเลียงน้ำไปสู่นาข้าว ผ่านระบบชลประทานในหน้าแล้ง และเป็นที่ระบายน้ำเข้าเพื่อป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝน ในขณะที่อ่างเก็บน้ำปาราย เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างโดยฝีมือมนุษย์ มันมีความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร มีขนาดประมาณสนามฟุตบอล 400 สนามมาเรียงต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถือว่าเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุด และมีโครงสร้างดีที่สุด ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มีร่องรอยที่บ่งบอกถึงแนวที่ช่วยควบคุมระดับน้ำ อันเป็นวิศวกรรมทางชลศาสตร์เมื่อ 800 ปีก่อน เป็นการยากที่จะเชื่อใช่ไหมว่า ชาวเขมรโบราณสามารถที่จะย้ายแม่น้ำทั้งสาย มาเติมเต็มอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาได้
ในขณะที่อาณาจักรขอม ยังคงดำเนินอยู่อย่างรุ่งเรืองแข็งแกร่งอยู่นั้น คลองส่งน้ำก็สะสมตะกอนเพิ่มมากขึ้น ๆเรื่อย ๆ การที่ต้องหล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนนับแสน นับล้านคน จำเป็นต้องมีการถางป่า พอเข้าหน้ามรสุมหน้าดินก็เลื่อนลง ทำให้เกิดตะกอนสะสมเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางเดินน้ำเปลี่ยนไป นับว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรงต่อระบบชลประทาน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เกิดการขาดแคลนอาหาร ผู้คนเริ่มอพยพออกจากอาณาจักรนครวัดไปที่พนมเปญ จนทำให้อาณาจักรขอมนี้ล่มสลายลง และหายสาบสูญไปกว่า 400 ปี ทำให้ชวนคิดว่าความคิดที่เลิศล้ำที่จะใช้ในการแก้ปัญหาหนึ่งนั้น อาจไปสร้างปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่าก็เป็นได้
สุดท้าย
สุดท้ายนี้ อยากเชิญชวนให้ลองมาเที่ยวชมโบราณสถาน นครวัดอันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ มาดูสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ ประติมากรรมอันงดงาม ที่นักวิชาการตะวันตกบางคน ยกย่องว่าเหนือชั้นกว่าวัฒนธรรมกรีก และโรมันเสียอีก ในละแวกเดียวกัน ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายลองหาข้อมูลดู เราสามารถไปได้ทางเครื่องบิน หรือนั่งรถทัวร์ไป ถ้างบน้อยก็มีรถบ่อนที่คอยรับนักท่องเที่ยวเชิงคณิตศาสตร์อยู่ด้วยลองหาอ่านรีวิวใน facebook ดูก่อนก็ได้ครับ ถ้าไปเที่ยวมาแล้วก็มาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ สำหรับวันนี้ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับผม