การคล้องช้าง พิธีกรรมโบราณยังคงรอคอยผู้สืบสาน

 

ในยุคที่อะไร ๆก็เป็นดิจิทัลไปเสียทั้งหมดนั้น กลับพบว่ายังคงมีสิ่งบางสิ่ง หรือเรื่องบางเรื่องที่ซุกตัวอยู่ตามซอกหลืบในสังคมของคนไทย เฝ้ารอคอยการค้นพบ และเปิดเผยอยู่มากมายไม่รู้จบสิ้น การคล้องช้าง ที่เป็นพิธีกรรมโบราณ ถูกสืบทอดผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน นับวันก็จะสูญหายตายจากไป ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ความสำคัญของช้างในอดีต กับปัจจุบันมีสถานะที่แตกต่างกัน กรอปกับจำนวนช้างที่ลดน้อยลงไปมากจนต้องทำการอนุรักษ์เพื่อให้ยังดำรงอยู่ ทำให้อาชีพการคล้องช้างได้ค่อย ๆจางหายไป บรรดาเหล่า ครูบา หมอช้าง ก็แก่เฒ่า ร่วงโรยกันไปตามกาลเวลา การสืบสานวิชาก็ทำได้แต่เพียงในบันทึก จดหมายเหตุ หรือตำรา การสืบสานที่เป็นตัวเป็นตนของคนจริง ๆนั้นทำได้ยากยิ่งนัก เพราะหากไม่มีพิธีการคล้องช้างเกิดขึ้นแล้ว ตำแหน่งครูบา และหมอช้าง ก็ไม่อาจสืบทอดต่อไปได้ ผมอยากชวนให้คุณอ่าน บทความนี้ช้าง หมอช้าง พฤติกรรม และความสำคัญของช้างต่อแผ่นดินไทย  และอีกบทความ ศาลปะกำ เชือกปะกำ ความเชื่อ ความศรัทธา พันธนาการของคนกับช้างที่มิอาจเลือนหาย  เพื่อทำความเข้าใจให้ได้มากยิ่งขึ้น

หากจะมีการคล้องช้าง หรือจับช้างเกิดขึ้นในยุคนี้ ผู้คนก็คงรวมกลุ่มหาวิธี และเครื่องไม้ เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อให้จับช้างได้โดยง่าย ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับการเรียกหน่วยกู้ภัยมาจับงูที่ซุกตัวอยู่ในบ้าน ไม่มีความเชื่อ ไม่มีพิธีกรรมใด ๆ ด้วยแต่เพียงคิดว่า ช้างก็เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อช้างในฐานะของคู่บ้าน คู่เมือง หรือสัตว์ศักดิ์สิทธิ ที่คนโบราณพึงยึดถือกันมาเป็นเวลาช้านานนั้นก็คงเลือนหายไปเช่นกัน
การคล้องช้าง

การคล้องช้างในสมัยโบราณจะทำการกันได้ 3 วิธี คือ:

 

 

::: การวังช้าง เป็นการตั้งคอกขนาดใหญ่เพื่อจับช้างป่าให้ได้ทั้งโขลงให้หมดภายในคราวเดียว
::: การจัดเพนียด เป็นการสร้างเพนียดขนาดใหญ่ขึ้นมา แล้วต้อนช้างป่าให้เข้าเพนียด จากนั้นจึงขี่ช้างต่อไล่จับช้างป่านั้นทีละเชือกจนหมด
::: การโพนช้าง เป็นวิธีการที่ยากกว่าวิธีอื่น ๆ เป็นวิธีที่หมอช้างตามถิ่นนั้น ๆใช้กัน โดยที่ครูบา หมอช้าง จะรวมกลุ่มควาญในสังกัดของตน ช่วยกันขี่ช้างต่อเข้าไปในป่าเพื่อไล่ต้อน และคล้องช้างป่าตัวที่หมายเอาไว้ทีละเชือก ซึ่งวิธีนี้จะต้องใช้ทักษะ ความชำนาญ ความรอบรู้เรื่องป่า และเวทย์มนต์คาถาตามความเชื่อ และยังคงต้องใช้กำลังคน และช้างต่อเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องใช้เวลาอยู่ในป่านานแรมเดือน กว่าภารกิจจะบรรลุผลสำเร็จ
ในบทความนี้จะบรรยายถึงวิธีการโพนช้างป่า อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนเลี้ยงช้างตามบ้านเรือน ที่ตั้งอยู่ตามแนวตะเข็บชายป่าที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย เนื่องจากช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ มีนิสัยดุร้าย และยังมีความเชื่อที่ยึดถือกันมาแต่ไหนแต่ไรว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิที่เป็นพาหนะของเทพเจ้า ที่ไม่สามารถปราบพยศกันได้ง่าย ๆ ในการออกโพนช้างแต่ละครั้งต้องอาศัยวิชาความรู้ของหมอช้างเป็นลำดับชั้นไป หมอช้างผู้ที่จะทำการคล้องช้างได้นั้นจะต้องศึกษา และจดจำตำราคชศาตร์ให้ได้อย่างแม่นยำทั้ง 2 คัมภีร์ คือ

 

 

::: ตำราคชลักษณ์ ที่ว่าด้วยการดูลักษณะของช้าง ลักษณะใดเป็นช้างมงคล และลักษณะใดเป็นเสนียดจัญไร
::: ตำราคชกรรม ที่ว่าด้วยมนต์ที่ใช้บังคับช้างป่า เพื่อที่จะสะกดช้าง
โดยหมอช้างจะปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมา หากละเลย หรือขาดตกบกพร่องในข้อห้ามปฏิบัติ หรือข้อที่ควรปฏิบัติ จะนำมาซึ่งเหตุร้าย หรือมีสิ่งอัปมงคลเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางเพื่อคล้องช้างป่านั้น หากลูกหาบ หรือควาญช้าง มีการฝ่าฝืนคำตักเตือนของหมอเฒ่าผู้เป็นหัวหน้าคณะ จะต้องถูกลงโทษ หรือไม่ท่านก็อาจยกเลิกภารกิจการคล้องช้างในครั้งนั้นเสีย การเข้าออกป่าต้องให้ความเคารพ และเชื่อฟังผู้ที่อยู่ในสถานะที่สูงกว่าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

 

 

การจัดคณะเพื่อที่จะไปทำการคล้องช้างนั้น จำนวนคน และจำนวนช้างต่อจะถูกกำหนดตามปริมาณของช้างป่าในโขลงที่หมายตาเอาไว้ กับสภาพของผืนป่าที่เป็นที่พำนัก และหากินของช้างป่าโขลงดังกล่าว หากสำรวจแล้วพบว่ามีช้างป่าในโขลงนั้นเป็นจำนวนมากนับร้อยเชือก ที่ถือว่าเป็นโขลงขนาดใหญ่ จำนวนคน และช้างต่อในคณะก็จะต้องใช้จำนวนมากขึ้นตามไปด้วย บางคณะอาจใช้คนถึง 30-40 คน และช้างต่อ 15-20 เชือก ซึ่งทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหมอเฒ่า
โดยปกติช้างจะใช้เวลาในการกินอาหารถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน การเดินทางไปด้วย และหยุดกินไปด้วยนั้น ทำให้มีขอบเขตพื้นที่การหากินของมันกว้างใหญ่ยิ่งนัก การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของช้างป่าโขลงหนึ่ง ๆแล้วพบว่า พวกมันจะใช้พื้นที่ประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร หรือราว 100000 ไร่ บนผืนป่าทึบในการหากิน และจะใช้พื้นที่ราว 60 ตารางกิโลเมตร หรือราว 38000 ไร่ บนผืนป่าโปร่งในการหากิน การปรากฏตัวของโขลงช้างป่าบนผืนป่าโปร่งนั้นมักจะเกิดขึ้นในฤดูฝน ที่จะมีแหล่งน้ำ และพืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ในฤดูนี้ป่าโปร่งจึงเปรียบได้กับคลังอาหารของบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ รวมทั้งช้างป่าด้วย การที่ช้างป่าหากินอยู่บนภูมิศาสตร์อันหลากหลายนี้นี่เอง อาจจำเป็นต้องใช้กำลังพล และช้างต่อจำนวนเพิ่มมากขึ้น กับโขลงช้างป่าที่หากินบนผืนป่าที่ยากต่อการไล่ต้อนให้ช้างป่าที่หมายเอาไว้ให้จนมุม
หลังจากทำการสำรวจ และจัดคณะทั้งหมอช้าง ควาญช้าง และช้างต่อ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พ่อหมอเฒ่าหัวหน้าคณะก็จะหาฤกษ์ยามทำการกำหนดวันที่จะเริ่มเดินป่า แจ้งเตือนจนเป็นที่ทราบกันทั้งคณะ ตลอดจนถึงครอบครัวของผู้ร่วมในคณะครั้งนี้ เพราะการเดินป่าเพื่อทำการคล้องช้างป่าจะใช้เวลานานนับเดือน ทั้งเจ้าตัวและครอบครัวต้องปฏิบัติตามจารีตเดิมอย่างเคร่งครัด ห้ามฝ่าฝืนข้อห้ามต่าง ๆที่เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วในแต่ละตระกูลในระหว่างการเดินป่า
 

 

ผู้ที่ร่วมอยู่ในคณะจะช่วยกันตระเตรียมเครื่องมือสำหรับการคล้องช้าง เช้าวันงานพ่อหมอเฒ่าจะเรียกรวมผู้คนทุกคนในคณะ เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ศาลปะกำ เพื่อขอพรจากดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของครูบา อาจารย์เฒ่า หมอช้างต้นตระกูล ช่วยบันดาลให้การคล้องช้างในครั้งนี้ประสบโชคดี เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับทุกคนในคณะ เมื่อออกจากศาลปะกำ หมอช้าง และควาญคู่ใจก็จะเตรียมเครื่องมือที่จะใช้ในการคล้องช้างป่า ขึ้นเรียงตามลำดับไว้บนหลังช้างอย่างพิถีพิถัน

 

 

หมอช้างจะขึ้นขี่คอช้างจากด้านหน้า ในขณะที่ควาญจะต้องขึ้นช้างจากทางด้านหลังเท่านั้น พ่อหมอเฒ่าจะขี่ช้างนำไปตามแนวป่า ถ้าเป็นคณะใหญ่ก็จะส่งสัญญาณผ่านเขาควายซึ่งรัศมีการได้ยินได้กว้างไกลเป็นกิโลเมตร เมื่อเดินมาจนได้ฤกษ์ยามก็จะทำพิธีปลดเชือกปะกำจากหลังช้างซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ทำกันกลางป่า หมอเฒ่าก็จะให้จัดเครื่องเซ่นไหว้ผีป่าเพื่อทำการขออนุญาต และขอพรให้ประสบผลดีในภารกิจนี้ ระหว่างนี้ก็จะทำพิธีเสี่ยงทายโดยการถอดกระดูกคางไก่ เพื่อใช้ทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆเช่นจำนวนช้างที่จะโพนได้ หรือแหล่งที่หากินของช้างป่าอยู่ตรงส่วนไหนของป่า

 

 

จากนั้นหมอเฒ่าก็จะทำการสอบสวนทุกคน โดยเฉพาะลูกหาบ และควาญ เพราะคนเหล่านี้ไม่มีวิชาอาคมติดตัว หรืออาจทำผิดกฎข้อห้ามในการเดินป่า ซึ่งต้องตอบตามความเป็นจริง หากผู้ใดได้มีการละเมิดข้อห้ามนั้นแล้ว จะให้ทำการล้างบาปโดยการให้ลงไปดำน้ำ ล้างชำระตัวให้สะอาดหมดจดเสียก่อน เป็นการล้างบาป จะได้กลับมาเป็นคนบริสุทธิ์อีกครั้ง
การนอนค้างอ้างแรมในป่าเป็นเรื่องที่ต้องกระทำให้รอบคอบ หมอเฒ่าจะทำการกำหนดทิศสำหรับการนอนของกลุ่มต่าง ๆ ก่อกองไฟเป็นสามกองไม่ให้ใช้ปะปนกัน เมื่อก่อกองไฟแล้ว หมอเฒ่าก็จะทำพิธีปลงเชือกปะกำขึ้น ร่ายคาถาเป็นภาษาป่าเพื่อป้องกันภัยจากช้างป่า และสัตว์อื่น การสื่อสารของคนในคณะจะสื่อสารกันด้วยภาษาป่า ห้ามไม่ให้ใช้ภาษาที่ใช้กันอยู่ในบ้านเพื่อเป็นเคล็ด
ตัวอย่างของภาษาป่า
มาเทียบโฝน  หมายถึง  มากินข้าวกัน
โจโระ              หมายถึง  แกงกวาง
กำ                     หมายถึง  ครับผม
ไปโบด              หมายถึง  ไปสืบดูว่าช้างป่าอยู่ที่ไหน
ผมไม่ทราบว่า ภาษาป่าในแต่ละภาคของประเทศไทยใช้เหมือนกันหรือไม่ มีการพบว่า ภาษาของชาวไทซอง ที่อาศัยอยู่แถบ สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา และแถวจันทบุรีที่มีคนรุ่นเก่า ๆใช้สื่อสารกัน มีความเชื่อกันว่าเป็นภาษาที่สามารถใช้สื่อสารกับสัตว์ได้ เป็นภาษาป่าดั้งเดิม ที่ไม่มีอักษรเป็นของตนเอง ซึ่งตอนนี้ก็ได้สาบสูญไปเสียแล้ว ตัวอย่างภาษาไทซองที่มีการบันทึกไว้
ม็อก       หมายถึง   ย่าทวด
คะยาง     หมายถึง  เต่า
ก้าน        หมายถึง  เหล้า
แกร๊ด     หมายถึง  ไก่
ภาษาป่าจึงเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่น่ากังวลว่าจะสูญหายไป นอกจากเรื่องของภาษาป่านี้ ยังมีกฎข้อห้ามอื่น ๆอีกเช่น ห้ามโพกผ้าขาวม้าระหว่างเดินทาง ห้ามพูดโกหกระหว่างกัน ห้ามนอนก่อนพ่อหมอเฒ่า ห้ามออกนอกกองไฟหลังจากพลบค่ำ ถ้าหากพบว่ามีการละเมิด พ่อหมอเฒ่าอาจล้มเลิกภารกิจนี้เสียก็ได้
การแกะรอยโขลงช้างป่า หมอช้างที่ชำนาญจะสามารถจับอาการได้ว่าโขลงนี้เดินกินอาหารเรื่อยไป หรือมุ่งหน้าเดินทางแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้คณะคาดการณ์ระยะห่างของคณะ กับโขลงช้างป่าได้ดีขึ้น ซึ่งการตามรอยโขลงช้างป่าอาจใช้เวลานานหลายวัน หมอช้างบางท่านสามารถที่จะทำนายมูลช้างได้ว่าเป็นของช้างพัง หรือช้างพลาย หรืออาจทำนายลักษณะการถ่ายมูลของช้างป่าได้ว่าจะลงไปกินโป่ง หรือกินพืชที่ไหนต่อไป
เมื่อแกะรอยได้ใกล้เข้าไปมากแล้ว พ่อหมอเฒ่าก็จะสั่งให้หมอช้างไปสืบดูว่าโขลงนั้นอยู่ที่ไหนแน่ เมื่อได้ความชัดเจนแล้ว หมอเฒ่าก็จะทำการวางแผนป้องกันไม่ให้โขลงหนีเข้าไปในป่าลึก เพราะจะทำให้คล้องได้ยากขึ้นไปอีก ช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีความระวังภัยสูง มันมีประสาทรับรู้ด้านกลิ่นดี และมีใบหูใหญ่ที่สามารถได้ยินเสียงเบา ๆได้ดี หมอช้าง และควาญจำเป็นต้องสังเกต ช้างตัวที่เป็นจ่าฝูง และช้างตัวที่คอยระวังหลังไว้ให้ดี จนรู้ว่ามันซ่อนตัวอยู่ส่วนใดของป่า จากนั้นก็เคลื่อนคณะให้เข้าใกล้ช้างป่าโขลงนั้น เมื่อช้างป่าได้กลิ่นคนพวกมันก็จะแตกฝูง หมอช้างในแต่ละกลุ่มย่อยก็จะขับช้างต่อไล่ต้อนช้างป่าตัวที่หมายตาเอาไว้ให้จนมุม การเลือกช้างป่าที่จะคล้องนั้น ต้องเลือกช้างที่มีขนาดเล็กกว่าช้างต่อที่เรานำมาเทียบ เพราะหากเลือกช้างที่มีขนาดใหญ่กว่า อาจจะรั้งกันไว้ไม่อยู่ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้าหากพลาดไปคล้องได้ช้างป่าที่มีขนาดใหญ่กว่าช้างต่อของตน หมอช้างต้องรีบส่งสัญญาณ เพื่อให้หมอช้างคนอื่น ๆรีบนำช้างต่อเชือกอื่นเข้ามาเทียบเสริมเพื่อเข้าช่วยเหลือให้ทันท่วงที

 

 

เมื่อควาญสามารถเร่งช้างต่อให้ไล่ทันช้างป่าแล้ว หมอช้างที่อยู่ด้านหัวช้างต่อก็จะส่งขอบังคับช้าง มาให้ควาญที่อยู่ด้านหลัง ส่วนควาญเมื่อรับขอมาแล้วก็จะรีบส่งไม้คันจามที่ปลายด้านหนึ่งมีบ่วงบาศก์ของเส้นปะกำหนังควายผูกติดอยู่ให้กับหมอช้าง เมื่อไล่ต้อนจนช้างป่าจนมุมแล้ว หมอช้างก็จะหาจังหวะเพื่อปักไม้คันจามล่อให้ช้างเตะเท้าของมันเข้าไปในบ่วงบาศก์ เมื่อเท้าช้างป่าติดเข้าไปในบ่วงแล้ว หมอช้างก็จะรีบปล่อยไม้คันจามทิ้งไป และขับช้างต่อไปขวางแนวดึงของเชือกปะกำไว้ เพื่อป้องกันช้างป่าที่ติดบ่วงอาละวาด และดึงเชือกหนี ซึ่งเชือกปะกำอาจไปพันตัวหมอ หรือควาญทำให้พลัดตกจากหลังช้างต่อได้ซึ่งอันตรายมาก และอาจถูกช้างต่อเหยียบเอาได้

 

 

ปลายอีกข้างของเชือกปะกำจะถูกผูกติดอยู่ที่หัวของช้างต่อ หมอช้างจะทำการกระตุ้นช้างให้ลากช้างป่าตัวที่คล้องได้มาที่ต้นไม้ใหญ่จากนั้นก็ผูกโยงช้างป่าเข้ากับตอไม้ใหญ่ ปล่อยให้มันอาละวาดจนมันเหนื่อยไปเอง เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง หมอช้างก็จะนำเชือกทามไปโยนคล้องที่หัวของช้างป่า แล้วนำไปโยงกับกิ่งไม้สูงป้องกันมันกระโจนใส่ รอจนมันหายพยศแล้วจึงทามหัวช้างต่อกับช้างป่าเข้าด้วยกัน จากนั้นก็จะตามตัวพ่อหมอเฒ่ามาทำพิธีสะกดช้าง บางทีต้องทำการผูกเท้าทั้งสองของช้างเพื่อป้องกันการหลบหนี

 

 

บรรดาควาญ และลูกหาบจะช่วยกันกั้นคอกฝึกหัดอยู่ริมน้ำ เชื่อว่าเมื่อนำช้างป่ามาฝึกหัดอยู่ริมน้ำ มันจะยอมรับการบังคับจากหมอช้าง หรือควาญได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจใช้เวลาเพียงเดือนเดียวในการลดความดุร้าย และสร้างความคุ้นเคยกับคนได้ตามสมควร

บทความนี้ค่อนข้างยาว แต่ผมไม่อาจตัดทอนส่วนหนึ่งส่วนใดได้เลย นอกจากจะเผยแพร่แบบสาธารณะแล้ว ผมยังอยากเก็บไว้ให้เป็นบันทึกส่วนตัวไว้อ่านยามมีเวลาว่าง สำหรับวันนี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์เช่นเคยครับผม

 
 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *