จากกระแสเทคโนโลยี Blockchain ที่สร้างความสนใจให้กับผู้คนทั่วไป Bitcoin ที่ถูกสร้างมาจากเทคโนโลยีนี้ก็ยังคงเป็นที่จับตา และมีราคาที่เย้ายวนใจยิ่งนัก หากทว่าจะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่ามันคืออะไร การเรียนรู้ก็ต้องทำจากการอ่านต้นฉบับคือ Bitcoin whitepaper ของ Satoshi Nakamoto ที่ถูกตีพิมพ์ และเผยแพร่เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะทำความเข้าใจ ผมต้องขอออกตัวก่อนนะว่า ผมไม่ได้เป็นผู้ซื้อ/ขาย หรือขุดเหมือง Bitcoin เพียงแต่มีความสนใจในเทคโนโลยี Blockchain การศึกษาได้จากการอ่านเอกสาร และบทความจากหลาย ๆแหล่ง เพื่อทำความเข้าใจ บทความอาจยาวไปสักหน่อย เพราะมีคำอธิบายส่วนตัวประกอบลงไปด้วยเพื่อให้มันดูง่ายขึ้น
ในบทความนี้ไม่ได้เป็นการแปล whitepaper 2008 ของ Satoshi Nakamoto และไม่ได้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด เพียงแต่เป็นการเน้นถึงส่วนที่เป็นข้อสำคัญ ที่อาจทำให้เข้าใจ Bitcoin ได้มากยิ่งขึ้น ในหัวข้อที่ Satoshi Nakamoto ได้เขียน และตีพิมพ์ไว้ ‘Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System’ ได้แบ่งออกเป็นสี่ส่วนดังนี้
::: บทคัดย่อ (Abstract)
::: บทนำ (Introduction)
::: วิธีการ (Methodology)
::: บทสรุป (Conclusion)
บทคัดย่อ:: Abstract
เป็นบทคัดย่อที่แสดงรายละเอียดโดยสังเขป Satoshi Nakamoto ได้บอกถึงแนวทางการชำระเงินแบบ peer-to-peer จะช่วยในการส่งธุรกรรมทางการเงินจากคนหนึ่ง ไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยไม่ต้องผ่านบุคคลที่สามอย่างสถาบันการเงิน ปัญหาการใช้จ่ายซ้ำซ้อน (double spending)อันเป็นการฉ้อโกง เป็นสาเหตุที่ทำให้ สถาบันการเงินยังคงดำรงอยู่เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ และป้องกัน Satoshi Nakamoto ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหานี้โดยใช้ ลายเซ็นดิจิตอล (hash) การประทับตราเวลา (timestamp) เมื่อเกิดธุรกรรมขึ้น และ Blockchain ที่เป็นการบันทึกประวัติการทำธุรกรรม ที่เปลี่ยนแปลง และทำซ้ำไม่ได้
บทนำ:: Introduction
.ในบทความ Satoshi ได้ชี้ให้เห็นว่าการซื้อ/ขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันจะต้องอาศัยบุคคลที่สาม คือสถาบันการเงินเพื่อทำหน้าที่ประมวลผลในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงว่าในการซื้อ/ขายสินค้าบนอินเทอร์เน็ต ในแต่ละครั้งจะต้องประกอบด้วย ผู้ซื้อ ผู้ขาย และสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินนี้เป็นบุคคลที่สาม ที่ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายต่างให้ความเชื่อถือ การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลที่สามอย่างธนาคารนี้เอง ทางธนาคารมักจะเสียเวลาไปกับการแก้ไขข้อพิพาท และจัดการกับการฉ้อโกง จึงทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตสูงขึ้น และทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายจำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในราคาที่ค่อนข้างแพง
Satoshi ได้นำเสนอระบบการชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์ขึ้นมาใหม่ โดยระบบนี้อ้างอิงจากการอ่านรหัสลับ ทำให้ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายสามารถดำเนินการโต้ตอบกันเองได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยดำเนินการ
Satoshi ได้เสนอวิธีการเข้ารหัสลับเหล่านี้ในรูปแบบที่ไม่สามารถดำเนินการย้อนกลับได้ (non-reversible payment) เพื่อคุ้มครองผู้ใช้จากการฉ้อโกง โดยการสร้างระบบเงินสดอิเลคทรอนิกส์ให้เป็นชุดของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกัน และทำงานร่วมกัน ที่เรียกว่า peer to peer ซึ่งระบบนี้จะช่วยป้องกันปัญหาที่เกิดจากการทำรายการที่มากกว่าหนึ่งรายการพร้อมกัน โดยใช้เหรียญเดียวกัน โดยการใช้ Hashing และ PoW (proof of work)
อธิบาย
ในส่วนนี้ผมขออธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมให้อย่างนี้ว่า หากจะมีการซื้อ ขายเกิดขึ้น ผู้ซื้อ และผู้ขายต่างก็จะมีบัญชีของตัวเอง หากการซื้อ ขายทำกันที่ตลาดสด หรือ ห้างสรรพสินค้า ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะผู้ซื้อจะได้รับสินค้าทันที และผู้ขายก็จะได้รับเงินสดทันใดเช่นกัน แต่หากว่าต้องทำการซื้อ ขายกันระหว่างคนแปลกหน้า หรือในสถานที่ที่ห่างไกลกันออกไปเช่น ผู้ซื้ออยู่เชียงใหม่ ผู้ขายอยู่กรุงเทพฯ การย้ายโอนเงินสดจากผู้ซื้อไปยังผู้ขายก็คงลำบากไม่น้อย เพราะอย่างนี้นี่เองจึงเกิดระบบธนาคารขึ้นมา ธนาคารจะเป็นตัวกลางถ่ายโอนเงินสดระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย ซึ่งมันก็เป็นเพียงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในบัญชีผู้ขาย และลดลงในบัญชีผู้ซื้อเท่านั้นเอง ทั้งนี้ผู้ซื้อ และผู้ขายต่างต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการอำนวยความสะดวกนี้ให้แก่ธนาคาร จากตรงนี้ทำให้พบว่ามีตัวกลางเกิดขึ้นมาสองอย่างคือ ตัวเงินสด และธนาคาร ซึ่ง Satoshi เองมองว่าตัวกลางทั้งสองนี้นี่แหละเป็นเป็นปัญหา ที่ทำให้ผู้ซื้อ และผู้ขายไม่สามารถเจรจากันตามลำพังสองฝ่ายบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกันได้เลย Satoshi เขียนเอาไว้ว่า เพราะการที่มีตัวเงินสดอยู่ในโลกของกายภาพ หมายถึงมันมีรูปร่างตัวตนเป็นเหรียญ หรือเป็นธนบัตร ซึ่งคนทั้งโลกต่างก็อุปโลกน์มันขึ้นมาว่ามีค่า การเคลื่อนย้ายเงินสดจากคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่งทำได้ไม่สะดวกนัก จึงต้องมีตัวกลางคือ ธนาคารซึ่งจริง ๆแล้วทำหน้าที่ย้ายตัวเลขจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และจดบันทึกไว้ในสมุดบัญชีของแต่ละฝ่าย และธนาคารจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำหน้าที่นั้น ดังนั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยกับการที่มีเงินสดเป็นตัวตนอยู่ แต่ปราศจากตัวกลางอย่างธนาคาร
Satoshi จึงได้คิดค้นระบบการชำระเงินแบบใหม่ขึ้นมาโดยคิดกำจัดตัวกลางอย่างธนาคารออกไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าธรรมเนียมที่เขาบอกว่ามันแพงเกินไป แต่อย่างที่กล่าวไว้ด้านบนนี้ว่า ถ้าหากมีเงินสด ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีธนาคารเพื่อตรวจสอบความมีอยู่จริงของเงินสดของผู้ซื้อ และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัวเลขจากบัญชีผู้ซื้อไปสู่บัญชีผู้ขาย ดังนี้นี่เองเขาจึงจำเป็นต้องคิดถึงการกำจัดเงินสดที่มีตัวมีตนออกไปจากระบบที่สร้างขึ้นมาใหม่ด้วย แล้วอะไรกันที่มันจะมีค่าเทียมเงินสด แถมยังไม่มีตัวตนให้จับต้องได้อีกด้วย และสิ่งนั้นมันจะถูกเปลี่ยนผ่านจากการครอบครองของคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างปลอดภัยหรือไม่
Satoshi สมควรได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากในความละเอียดรอบคอบ สิ่งมีค่าที่จะมาแทนเงินสดนั้น เขาได้สร้างรหัสลับขึ้นมา ซึ่งรหัสนี้จะได้มาจากการถอดรหัสที่ต้องทำด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพสูง เมื่อถอดรหัสออกมาได้แล้วก็จะได้เป็นไฟล์ ที่เขาเรียกมันว่าเหรียญ Bitcoin โดยในช่วงแรกนี้มันจะมีมูลค่าได้ด้วยการผ่านการซื้อ ขายด้วยเงินสดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นเงินสกุลต่าง ๆเช่น ดอลลาร์สหรัฐ เยนญี่ปุ่น บาทไทย ริงกิตมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งการซื้อ ขายเหรียญ Bitcoin นี้มันเกิดจากความเข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของเหรียญ ผู้ซื้อจึงเกิดความต้องการขึ้นมา และแลกเปลี่ยนมันมาด้วยเงินสกุลต่าง ๆ ส่วนมูลค่าที่แท้จริงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ก็ถือว่ายังไม่เสถียร แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมา จึงมีการคาดหวังว่ามันจะมีมูลค่าที่ค่อนข้างเสถียรให้ได้อย่างน้อยก็ให้เหมือนกับทองคำ ทีนี้มันก็พอจะตอบได้ว่าไอ้เจ้ารหัสลับที่ว่านี้มันมีค่าขึ้นมาได้อย่างไร
Satoshi ประสบความสำเร็จที่สามารถทำให้รหัสลับที่ถูกถอดรหัสจนออกมาเป็นเหรียญ Bitcoin มีค่าขึ้นมาได้ในทางปฏิบัติ สิ่งที่เขาต้องทำต่อไปคือ ทำให้มันสามารถถูกเปลี่ยนผ่านโดยปราศจากบุคคลที่สามได้อย่างปลอดภัย การจะถ่ายโอน หรือเปลี่ยนผ่านเหรียญดิจิตอล อย่าง Bitcoin ให้ปลอดภัยโดยตัดตัวกลางอย่างธนาคารออกไปนี้ เขาได้อธิบายถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางการเงินเพียงสองฝ่ายระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขาย โดยไร้ธนาคารเป็นตัวกลางซึ่งเดิมจะทำหน้าที่บันทึกตัวเลขในบัญชีของแต่ละฝ่ายให้ เหมือนเป็นพยานรับรู้ให้ทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าต้องตัดตัวกลางอย่างธนาคารออกไป คิดอย่างง่ายก็คือ ผู้ซื้อก็จะลงบันทึกไว้ในบัญชีของตัวเองว่าได้โอนผ่านเหรียญของตัวเองนี้ออกไปแล้ว และตัวฉันไม่มีเหรียญนี้แล้วนะ ในขณะที่ผู้ขายก็จะลงบันทึกไว้ในบัญชีตัวเองเช่นกันว่าได้รับเหรียญมาแล้ว และเหรียญนี้ตกอยู่ในการครอบครองของฉันแล้วนะ แต่ทว่าหากมีผู้ซื้อขี้ฉ้อบางคนนำเหรียญที่สมมติว่ามีอยู่เหรียญเดียวไปทำธุรกรรมสองครั้ง ให้กับผู้ขายสองคน แน่นอนว่าจะมีผู้ขายคนหนึ่งได้รับเหรียญนั้นไปจริง ๆ แต่ผู้ขายอีกคนหนึ่งจะไม่ได้รับอะไรเลย อย่างนี้เขาเรียกว่า double spending Satoshi จึงคิดค้นวิธีที่จะป้องกันการฉ้อโกงในลักษณะนี้ โดยทำให้ ในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งเป็นแบบการใช้จ่ายที่ไม่สามารถดำเนินการย้อนกลับได้ (non-reversible payment) ด้วยการใช้ Hashing และ proof-of-work ซึ่งจะมีคำอธิบายในส่วนของวิธีการ (Methodology)
วิธีการ:: Methodology
ในส่วนของวิธีการ (Methodology) จะถูกแบ่งเป็นหัวข้อย่อย ๆที่จะสรุปแนวคิดของ Bitcoin ดังนี้:
1) Transactions, 2) Timestamp server, 3) Proof-of-work, 4) Networking, 5) Incentive, 6) Reclaiming Disk Space, 7) Simplified Payment Verification, 8) Combining and Splitting Value, 9) Privacy, 10) Calculations
ในหัวข้อย่อยข้างต้น ฟังดูแล้วไม่ค่อยจะคุ้นเคยคงต้องใช้ความพยายามพอสมควรที่จะทำความเข้าใจกับมัน
- Transaction:
Bitcoin ได้ถูกนิยามเอาไว้ว่าเป็น ชุดของลายเซ็นดิจิตอล (chain of digital signatures) ซึ่งมันสามารถเปลี่ยนผ่านจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ ด้วยการใช้ลายเซ็นอิเลคทรอนิกส์ (electronic signature) ซึ่งจะเรียกว่า แฮช (hash) ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการทำธุรกรรม จะมีการลงบันทึกประวัติการทำธุรกรรมเป็นทอด ๆไปทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่าน โดยประวัติเหล่านี้นี่เองที่จะไปสร้าง Bitcoin Blockchain ที่เป็นเสมือนบัญชีบันทึกประวัติการทำธุรกรรมของ Bitcoin ยิ่งมีการทำธุรกรรมมากครั้งเท่าไร ก็จะทำให้ blockchain ยาวขึ้นมากเท่านั้น
Satoshi มองเห็นถึงปัญหาที่ว่า หากมีการส่งเหรียญไปยังผู้รับมากกว่าหนึ่งรายในเวลาเดียวกัน ที่เรียกว่า double spending คือหลังจากส่งเหรียญผ่านไปยังผู้รับคนหนึ่งแล้ว ก็พยายามจะฉ้อโกงโดย การทำสำเนาเหรียญนั้นปลอมซ้ำขึ้นมาใหม่ และส่งไปให้ผู้รับอีกคนหนึ่ง คือจะใช้เหรียญเดียวกันนั้นมากกว่าหนึ่งครั้งนั่นเอง เขาแก้ปัญหานี้โดยที่ทุกครั้งที่ทำธุรกรรมในเหรียญ Bitcoin จะต้องมีการประทับตราเวลา (Timestamp) โดยอัตโนมัติ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างกลไกสำคัญในการรักษาลายเซ็นดิจิตอลไว้ในระยะยาว เป็นการปิดผนึกเวลาของเหรียญนั้น ๆว่าได้รับเมื่อไร ทำให้สามารถปกป้องสิทธิการครอบครองได้อย่างแน่นอน ถือว่าเป็นการรับรองเอกสารที่ถูกต้อง ดังนั้นแม้ว่าจะมีความพยายามในการฉ้อโกง โดยการทำสำเนาเหรียญ Bitcoin เพื่อส่งให้ผู้รับรายอื่น ๆ ระบบจะยอมรับเฉพาะเหรียญที่ได้รับการประทับตราเวลาที่เร็วกว่าในลำดับแรกเท่านั้น ส่วนเหรียญสำเนา แน่นอนว่ามันจะถูกส่งไปในเวลาที่ช้ากว่า เหรียญสำเนานั้นก็จะถูกระบบปฏิเสธโดยอัตโนมัติ
ในการทำธุรกรรมผ่านบุคคลที่สามอย่างธนาคารนั้น ตัวธนาคารเองจะสร้างความมั่นใจให้เจ้าของบัญชีในฐานะพยาน ทั้งนี้ระบบ Blockchain นี้สามารถที่จะปกป้องการทำธุรกรรมได้โดย จะประมวลผลทุกรายการที่มีการทำธุรกรรม และประกาศต่อสาธารณชนที่อยู่ในแวดวง กรณีของ Bitcoin นี้ผู้ที่อยู่ในแวดวงจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละเครื่องนั้นเราเรียกว่า node ผู้ที่เป็นเจ้าของ node แต่ละ node นั้นจะมีส่วนร่วมในการปกป้องระบบ โดยการเข้าไปแสดงตนว่าได้ยอมรับ timeline การทำธุรกรรมโดยการตอบรับการ update ซึ่งหมายถึงรายละเอียดการทำธุรกรรมต่าง ๆจะถูกบันทึกลงบน node นั้น ๆนี่เท่ากับเป็นการสร้างพยานสำหรับแต่ละธุรกรรม ได้อย่างมากมาย ถึงตอนนี้พอจะสร้างความเข้าใจได้ว่า บุคคลที่สามอย่างธนาคารนี้ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
การทำธุรกรรมผ่าน Blokchain อย่างเหรียญ Bitcoin นี้มันจึงต้องใช้เวลานานพอสมควรเพราะในแต่ละธุรกรรมนั้น มันต้องใช้เวลาในการประกาศให้สาธารณชนทราบ และร่วมเป็นสักขีพยาน เป็นที่เข้าใจกันนะครับ
Satoshi คิดว่าระบบ blockchain นี้ทำให้เหรียญ Bitcoin ปลอดภัยจากการโจรกรรม (hack) เพราะมีจำนวน node อยู่มากมายในระบบ hacker คนใดก็ตามที่คิดจะไปเปลี่ยนแปลงข้อมูล อย่างน้อยที่สุดจะต้องทำการ hack คอมพิวเตอร์ หรือ node ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลให้ได้มากกว่า 50% ขึ้นไป อยากจะบอกว่าใครก็ตามที่คิดจะ hack เหรียญ Bitcoin นี้มันก็บ้าเต็มทน ส่วนไอ้พวกที่กำลังลงมือ hack อยู่ ไอ้เนี่ย เรียกว่า ฟายยย
- Timestamp Server
เจ้าตัวนี้เป็นส่วนเล็ก ๆที่อยู่ในซอฟแวร์ ที่มันจะทำหน้าที่ประทับตราเวลาบนข้อมูล โดยมันจะเข้าไปดึงเอาข้อมูลส่วนเล็ก ๆของการทำธุรกรรม (hash) และประทับตราเวลาลงไปบนข้อมูลนั้น hash ที่ถูกประทับตราเวลาก็จะปรากฏให้ทุกคนในแวดวงได้เห็น การเกิดของ hash ชนิดนี้จะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า มีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นแล้วให้ทุก ๆ node แสดงการยอมรับ
เมื่อมีการทำธุรกรรมเกิดขึ้นมาใหม่ ลายเซ็นอิเลคทรอนิกส์ (hash) ของธุรกรรมใหม่นี้ จะถูกเพิ่มเข้าไปต่อจากรายการของลายเซ็นอิเลคทรอนิกส์ก่อนหน้านี้ (previous hash) ทำให้ประวัติการทำธุรกรรมมันยาวมากขึ้น ๆเรื่อย ๆ จึงเป็นสาเหตุให้ blockchain มีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ ทำให้ในระยะหลัง ๆการขุด Bitcoin ทำได้ค่อนข้างยากมากกว่าแต่ก่อน จากเดิมเพียงใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะธรรมดา ก็สามารถทำการขุดได้ Bitcoin มาโดยไม่ยากเย็นนัก เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ที่ความยาวของ blogchain มันยาวขึ้นมากทุกทีที่เกิดธุรกรรมใหม่ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแบบเดิม ก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะใช้ในการลงทุนขุด Bitcoin อีกต่อไป นักขุดทั้งหลายจึงหันไปใช้ คอมพิวเตอร์เฉพาะทางที่มีกำลังในการถอดรหัสได้อย่างรวดเร็วแทน
- Proof- of- Work:
เมื่อมีการติดตั้ง Timestamp server ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งหมายถึงว่ามี node อยู่อย่างมากมายในระบบ แต่ละ node จะช่วยกันพิสูจน์หลักฐานการทำธุรกรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการทำงานในปริมาณที่ระบุไว้ในระบบจริง แต่ละ node จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ คนจึงไม่สามารถสแปมระบบด้วยคำร้องขอหลายรายการ ถ้าจะมีการสแปมระบบด้วยคำร้องขอหลายรายการ จะต้องใช้พลังงานจากคอมพิวเตอร์อย่างมหาศาล ดังนั้น proof-of-work จะถูกใช้เพื่อปกป้องระบบ
ในรายละเอียด
เมื่อ hash ได้ถูกสร้างขึ้นโดย Timestamp server ซึ่งมันจะถูกไขปริศนาได้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain เมื่อใครก็ตามได้ส่งธุรกรรม ผู้รับจะต้องมีรหัสที่จะเป็นคำตอบสำหรับไขปริศนานั้น ถ้าคำตอบสำหรับไขปริศนานั้นถูกต้อง ธุรกรรมก็จะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี หากไม่ถูกต้องการทำธุรกรรมนั้นจะถูกปฏิเสธ กระบวนการสำหรับการไขปริศนานี้ จะเกิดเป็น Block ต่อ ๆกันไปเป็น Blockchain การทำธุรกรรมย้อนกลับเพื่อปลดบล็อกนั้นทำได้ยากยิ่ง เพราะการทำการปลด Block นั้นไม่สามารถทำได้เฉพาะ Blcok เดียว ต้องทำทั้งสาย Blockchain เพราะการทำธุรกรรมใหม่จะสร้าง Block ใหม่เกิดขึ้นทุกครั้ง ซึ่งจะต้องอ้างอิงกับ Block ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ดังนั้นการทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain นี้ ไม่สามารถทำธุรกรรมย้อนกลับได้
- Network:
ในส่วนนี้เป็นการอธิบายถึงโครงสร้างของกระบวนการเครือข่ายของ Bitcoin โดยสังเขปดังนี้ว่า ธุรกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจะปรากฏให้เห็นในทุก ๆ node ซึ่งหมายถึงทุกเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่าย แต่ละ node จะใส่ข้อมูลใหม่ของธุรกรรมที่เพิ่งจะเกิดขึ้นลงไปใน Block ของตน, จากนั้นก็จะทำการไขปริศนาโดยทำ Proof-of-Work, เมื่อ node ใดสามารถไชปัญหาได้ มันก็จะถูกบันทึกลงไปใน node อื่น ๆด้วย, แต่ละ node ที่อยู่ในเครือข่ายก็จะทำการยอมรับการทำธุรกรรมนั้นว่าสมเหตุสมผล และไม่มีเนื้อหาว่าเป็นธุรกรรมรองที่ฉ้อโกง คือไม่ใช่ธุรกรรมซ้อนที่เป็น double spending, จากนี้ก็จะเกิด Block ใหม่ใน chain นั้น
- Incentive:
การเกิดธุรกรรมแรกใน Block นั้นเกิดจากการที่มีคนที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ node ของตนเอง เชื่อมต่อกับเครือข่าย Bitcoin และช่วยในการทำธุรกรรมแรกของ Bicoin ด้วยการไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ node ที่ทำการดังกล่าวได้สำเร็จ ก็จะได้รับรางวัลเป็นเหรียญ Bitcoin นี่จึงเป็นที่มาของการกำเนิดขึ้นของคำที่ว่า การขุดเหมือง Bitcoin (Bitcoin Mining) แรงจูงใจนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมากมายทั่วโลก เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบเครือข่าย Bitcoin เพื่อสร้างธุรกรรมแรก และได้รับค่าตอบแทนเป็น Bitcoin
เมื่อใดก็ตามที่ Bitcoin เหรียญสุดท้ายจากที่มีอยู่ 21 ล้านเหรียญทั่วโลกได้ปรากฏขึ้นจากการทำธุรกรรมแรกของเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง แรงจูงใจในการทำเหมือง Bitcoin ก็จะหมดสิ้นไป สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือ การเก็บสะสม Bitcoin สิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มูลค่าของ Bitcoin จึงพุ่งสูงขึ้น และมีความผันผวนอย่างมาก ที่หลาย ๆคนตั้งข้อสังเกตุว่ามันมีลักษณะของรูปแบบการขึ้นลงของราคาที่ใกล้เคียงกับทองคำ
ความประณีตในการคิดของ Satoshi Nakamoto ที่เลือกให้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีอยู่ในระบบเป็นจำนวนมากทำหน้าที่ปกป้องระบบ และเหรียญ Bitcoin จากการฉ้อโกง ซึ่งถ้าจะทำได้ต้องมี node มากกว่าครึ่งหนึ่งของระบบร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงข้อมูลใน Blockchain ที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลย การทำกำไรจากการฉ้อโกงจึงดูเหมือนมีต้นทุนที่สูงมากไม่คุ้มค่า ดังนั้นผู้ที่อยู่ในแวดวงเครือข่ายนี้จะถูกบังคับให้เล่นไปตามกฏเกณฑ์ที่มีอยู่เท่านั้น มูลค่าที่เปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงของ Bitcoin ที่เป็นไปตามกระแสตลาด จะเป็นตัวกำหนดวิธีการทำกำไรจาก Bitcoin อย่างแท้จริง
- Reclaiming Disk Space:
ปัญหาหนึ่งที่มีการถกเถียงกันในแวดวงเครือข่าย Bitcoin ก็คือการบริหารจัดการพื้นที่ในระบบเครือข่าย Bitcoin เพราะหากมีธุรกรรมใหม่ ๆเกิดขึ้น จะทำให้ Blogchain นั้นมีขนาดยาวขึ้นไปด้วย การใช้เวลาในการทำธุรกรรมหนึ่ง ๆก็จะมากตามขนาดความยาวของ Blogchain ใน whitepaper 2008 มีการระบุให้สามารถกำจัดธุรกรรมเก่าออกไปจากระบบหลังจากผ่านพ้นไปเป็นระยะเวลาหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว เพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่ โดยร่องรอยของการทำธุรกรรมเก่ายังคงมีอยู่เพื่อให้ Blockchain เสถียร มีการคาดหวังว่าการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์จะรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องรองรับขนาดของ Blockchain ที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ
- Simplified Payment Verification:
เป็นการยืนยันการชำระเงิน ในเทคโนโลยี Blockchain นี้ถ้าหากผู้ใช้ update ข้อมูลของเครือข่าย ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้เองก็จะมี่ Blockchain ที่ยาวทีสุด นั่นหมายถึงมีสำเนาข้อมูลของการทำธุรกรรมครั้งล่าสุดปรากฏอยู่ การยืนยันการชำระเงินก็ทำได้โดยง่าย การเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบจะทำให้เกิดการตรวจสอบว่า node หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้นั้นอยู่ในเวอร์ชั่นปัจจุบันหรือไม่ ถ้าไม่ Blockchain จะทำการ update ข้อมูลให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดก่อนที่จะมีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้น
วิธีการตรวจสอบเพื่อยืนยันการชำระเงิน จาก node ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในระบบจะช่วยในการป้องกันระบบจากการฉ้อโกง หากว่า node ใดมีการตรวจพบว่ามี node ที่หลอกลวงกำลังดำเนินการอยู่ ก็จะทำการแจ้งเตือนไปยัง node อื่น ๆให้ทำการดาวน์โหลดสำเนา Blockchain ฉบับเต็มเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับระบบต่อไป
- Combining and Splitting Value:
เพื่อเป็นการใช้เหรียญในระบบอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีกระบวนการที่สามารถจะแบ่งเหรียญเป็นส่วน ๆก่อนที่จะใช้มัน และเช่นกันก็มีกระบวนการที่จะรวมส่วนย่อย ๆให้มันมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ตามที่ต้องการ มูลค่าของ Bitcoin ในปัจจุบันถือว่าสูงอยู่มาก การแบ่ง และการรวมเหรียญได้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานเป็นอย่างดี การใช้จ่ายเหรียญเป็น 0.001 bitcoin หรือ 2.079 bitcoin สามารถทำได้ไม่แตกต่างจากการใช้เงินสดในสกุลต่าง ๆที่มีอยู่ในปัจจุบันเลย
- Privacy:
ส่วนนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ในส่วนนี้จะเป็นจุดอ่อน หรือจุดแข็งก็ไม่อาจพูดได้อย่างแน่ชัด การเปลี่ยนผ่านการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง แต่ละ node จะทำการยอมรับการทำธุรกรรมที่ปรากฏเป็นสาธารณะในระบบ Bitcoin แต่ก็ไม่มีการระบุชื่อ หรือตัวตนของผู้ส่ง และผู้รับว่าได้มีการเคลื่อนย้าย Bitcoin จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอันเนื่องมาจากการฟอกเงินในธุรกิจมืด อย่างที่เคยเกิดเรื่องมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ Ransomeware ที่ชื่อ WannaCry ที่อาศัยช่องโหว่ของ window software เข้าโจมตีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือองค์กร เพื่อเข้าไปติดตั้ง software อันตรายที่สามารถเข้าไปปิดกั้นการเปิดไฟล์ข้อมูลที่เก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ คนร้ายได้ระบุไว้โดยชัดเจนว่า หากต้องการไถ่ถอนข้อมูลคืน จะต้องจ่ายเป็น Bitcoin เท่านั้น ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าไม่สามารถระบุตัวตนของคนร้ายได้เลย เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆหลายประเทศ ปฏิเสธการยอมรับการทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin
- Calculations:
ในส่วนของการคำนวณนี้ จะเป็นส่วนที่อธิบายถึงการปกป้องระบบ และป้องกันการฉ้อโกงจากการทำธุรกรรมซ้อน โดยการไขปริศนาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน ที่ต้องประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ ซึ่งการคำนวณเหล่านี้ต้องอาศัยความรู้ทางคณิตศาสตร์ชั้นสูง รายละเอียดในส่วนนี้ไม่ง่ายนักที่จะอธิบาย หรือทำความเข้าใจ ผมคงจำเป็นที่ต้องขอละเอาไว้ก่อน
บทสรุป: Conclusion
จากทั้งหมดทั้งมวลที่ปรากฏอยู่ใน whitepaper 2008 Satoshi Nakamoto ได้สรุปไว้ในบทความของเขาที่ชี้ให้เห็นไว้ 2 ประเด็นใหญ่ ๆคือ เรื่องการทำธุรกรรมทางอิเลคทรอนิกส์โดยปราศจากบุคคลที่ 3 อย่างธนาคาร กับเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain โดยลายเซ็นดิจิตอลจะช่วยยืนยันความเป็นเจ้าของ Bitcoin และป้องกันการทำธุรกรรมซ้อน ที่เรียกว่า double spending, ระบบเครือข่ายของ Bitcoin ที่เป็นแบบ peer-to-peer ได้สร้างบันทึกสาธารณะที่ทำให้ยากต่อการโจมตีจากการเข้าไปเปลี่ยนข้อมูลของ Blockchain, คอมพิวเตอร์ หรือ node ที่มีอยู่ในเครือข่าย เมื่อเข้าสู่ระบบจะสามารถ update ข้อมูลใหม่ก่อนทำธุรกรรม ซึ่ง nodes เหล่านี้จะช่วยป้องกันระบบจากการฉ้อโกงได้
บทความนี้ค่อนข้างยาว และผมหวังไว้ว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Bitcoin ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain สร้างสรรค์ขึ้นมา เป็นที่น่าสังเกตว่า Satoshi Nakamoto ผู้เขียน whitepaper 2008 ฉบับนี้ นอกจากจะใช้ความประณีต ความรอบคอบละเอียดลออในการคิดแล้ว การใช้ภาษา และความรอบรู้ทั้งทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการเงินการธนาคาร ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก ผมคงต้องจบบทความไว้แต่เพียงเท่านี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับผม
3 thoughts on “Bitcoin whitepaper คือ? คำอธิบาย”