ความยิ่งใหญ่ของจีนในวันนี้ และพึงจะมีมากขึ้นในอนาคตนั้น มีวีรบุรุษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเบื้องหลังเรื่องราวต่าง ๆที่เกิดขึ้น มีอิทธิพลของสตรีครอบงำอยู่ไม่น้อย การใช้เวลาในการก่อร่างสร้างชาติมาอย่างยาวนาน ทำให้จีนมีประวัติศาสตร์ที่เย้ายวนชวนให้ศึกษาอย่างมากมาย เรื่องราวของผู้หญิงยุคโบราณ 8 คนในห้วงของเวลาที่แตกต่างกันในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของจีน มีอิทธิพลต่อ การเมือง การปกครอง ความเชื่อ วิถีชีวิต ความคิด ความรัก แม้กระทั่งความเกลียดชัง ที่ค่อย ๆหล่อหลอมให้จีนมีอัตลักษณ์บางอย่างเพิ่มขึ้นมา นอกเหนือจากที่เคยดำรงอยู่ตามปรัชญาของขงจื้อ
บางเรื่องราวของสตรีผู้มีอิทธิพลสูงยิ่งในประวัติศาสตร์จีนนั้น เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานมาก ถ่ายทอดผ่านการบอกเล่า เป็นตำนานที่อาจมีบางมุมที่ลี้ลับ และอาจเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อสำหรับผู้คนในสมัยปัจจุบันนี้ จนแยกไม่ออกว่าเป็นนิทาน พงศาวดาร หรือเรื่องจริง แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเป็นเรื่องของผู้หญิง 8 คนที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนในด้านต่าง ๆ บางเรื่องราวก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมีบันทึกเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้ บทความนี้จะพาคุณย้อนเวลาไปรับรู้เรื่องราวของ 8 สตรีผู้เรืองอำนาจที่มีอิทธิพลต่อชาวจีนกัน
- Daji 妲己
ต้าจี : Daji เป็นสนมคนโปรดของจักรพรรดิอินโจว ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ชาง ประมาณ 1600-1700 ปีก่อนคริสตศักราช เชื่อกันว่า ต้าจี : Daji เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการล่มสลายของราชวงศ์ชาง เธอถูกอธิบายว่าเป็นหญิงที่มีวิญญาณของจิ้งจอกเก้าหางสิงร่างอยู่ ตามนวนิยายจีน Fengshen Yanyi ในตำนานจิ้งจอกเก้าหางที่เล่าสืบทอดกันมา กล่าวเอาไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอินโจวได้เดินทางไปสักการะเจ้าแม่หนี่หวา ที่เชื่อกันว่าเป็นมารดาแห่งเทพ และเกิดอุตริเขียนข้อความในเชิงลบหลู่ ด้วยประสงค์ที่จะได้สนมเอกที่มีรูปลักษณ์ หน้าตาคล้ายกับเจ้าแม่หนี่หวา เป็นเหตุให้เจ้าแม่หนี่หวาส่งปีศาจ 3 ตนมาทำการสังหารพระเจ้าอินโจว หนึ่งในปีศาจเหล่านั้นก็คือ จิ้งจอกเก้าหาง
ต้าจี : Daji เป็นธิดาของผู้ปกครองแคว้นซู่ ซึ่งเป็นแคว้นเล็ก ๆ ที่ต้องคอยส่งเครื่องบรรณาการมาถวายให้กับพระเจ้าอินโจว ครั้นเมื่อไม่สามารถหาเครื่องบรรณาการเพื่อส่งถวายได้ จึงถูกกองทัพของพระเจ้าอินโจวห้อมล้อม และโจมตี ในสถานการณ์ที่คับขันนี้นี่เอง ผู้ปกครองแคว้นซู่ จึงถวายลูกสาวของเขา ต้าจึ่ : Daji เพื่อเข้ามาเป็นสนมรับใช้พระเจ้าอินโจว และด้วยความงดงามชวนให้หลงใหลของ ต้าจี : Daji ทำให้พระเจ้าอินโจวถอนกำลังออกไป และรับนางเข้ามาเพื่อเป็นสนมในวัง จิ้งจอกเก้าหางที่คอยท่าอยู่แล้วได้ทำการสังหาร ต้าจี : Daji และเข้าสิงร่างของนางแทน ปีศาจจิ้งจอกเก้าหางในร่างอันงดงามเย้ายวนใจของ ต้าจี : Daji ได้ทำให้พระเจ้าอินโจวลุ่มหลงมัวเมา และถูกครอบงำ ทำตามคำบงการของนางปีศาจร้าย สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้กับราชสำนัก และประชาชน มีการสั่งให้ทำการประหารขุนนางคนสนิทที่เคยอยู่เคียงข้างพระเจ้าอินโจวอย่างโหดเหี้ยม ด้วยวิธีการที่แปลกประหลาดที่นางปีศาจได้คิดค้นขึ้นมา สิ่งชั่วร้ายเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดการโค่นล้มอำนาจของพระเจ้าอินโจว อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์ชางล่มสลายลงอย่างน่าอดสู
ตำนานเรื่องปีศาจจิ้งจอกเก้าหางนั้นมีปรากฏอยู่ในหลายประเทศรอบ ๆจีน ทั้งอินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น โดยมีลักษณะเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเอเชียจนถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์มากมายหลายเวอร์ชั่น รวมทั้งทำเป็นเกมส์ในเวลาถัดมา เมื่อมีจิ้งจกสองหางที่สร้างความฮือฮาในหมู่ชาวไทยได้นั้น หากทว่าปรากฏจิ้งจอกเก้าหางเกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังให้เห็นมาเมื่อใด จะสร้างความตกตะลึงพึงเพริดให้กับพี่ไทยได้มากสักเพียงไหนหนอ ผมเพียงแต่ทายขำ ๆเอาไว้ว่า ปีศาจก็ปีศาจเถอะ พี่ไทยจะจับรูดจนขนหางร่วงหมดทั้งเก้าหางนั่นแหละ ตีเลข ทายเบอร์กันให้สนุกสนานเชียวล่ะ
- Xi Shi 西施
Xi Shi ที่คนไทยรู้จักกันดีว่าไซซี ตามสำเนียงแต้จิ๋ว หรือ ซี ซือ ตามสำเนียงจีนกลาง มีชื่อเดิมว่า อี๋กวง (Shi YiguangX) Xi Shi ถือว่าเป็นหนึ่งในสี่หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน เกิดประมาณ 506 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุคชุนชิว มณฑลเจ้อเจียง ที่อยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นเยว่ Yue
ความงามของ Xi Shi ถูกกล่าวอย่างชวนพิศวงว่า ในขณะที่เธอเอนตัวก้มลงจากระเบียง เพื่อมองไปที่ปลาในบ่อ บรรดาเหล่าปลาก็จะตื่นตะลึงจนลืมว่ายน้ำ และจมลงใต้ผิวน้ำ มีคำอธิบายเชยชมถึงสี่หญิงงามในแผ่นดินจีนไว้ทำนองนี้ว่า ความงามของหญิงงามเหล่านี้ทำให้ ปลาถึงกับจมน้ำตาย นกถึงกับร่วงหล่นจากฟากฟ้า ดวงจันทร์ต้องหลบซ่อนเข้ากลีบเมฆ ดอกไม้เหี่ยวเฉาไปด้วยความอับอาย
เรื่องราวของไซซี Xi Shi
กัวเจี้ยน ผู้ปกครองแคว้นเย่ว์ ได้พ่ายแพ้ในการทำสงครามกับฝู่จ้าย แห่งแคว้นวู่ และต้องตกเป็นเมืองขึ้น กัวเจี้ยนได้ทำการวางแผนแก้แค้นอย่างลับ ๆด้วยรู้มาว่า ฝู่จ้ายมักจะไม่สามารถทนทานต่อความงดงาม และเย้ายวนใจของหญิงสาวได้เลย กัวเจี้ยนจึงเสาะหาหญิงงาม และนำมาฝึกฝนอบรมตามแผนยุทธศาสตร์แห่งความงามที่เหล่ากุนซือได้คิดค้นขึ้น
ไซซี Xi Shi เป็นลูกสาวคนตัดฟืนที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของหมู่บ้านฮวนซา มีความงดงามเป็นที่ร่ำลือกันเป็นอย่างมาก จึงถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสาวงามเหล่านั้น เมื่อได้รับการฝึกฝนจนมีคุณสมบัติเพียบพร้อมแล้ว เธอก็ถูกส่งไปเป็นเครื่องบรรณาการแก่ฝู่จ้าย
แน่นอนเดาออกใช่ไหมว่า ด้วยความงดงาม และผ่านการฝึกฝนอบรมจนเชี่ยวชาญในการมัดใจชายของ ไซซี Xi Shi ทำให้ฝู่จ้ายลุ่มหลง มัวเมาอย่างหัวปักหัวปำ จนละเลยในกิจการงานเมือง ต้องทุ่มเททรัพย์สมบัติอย่างมหาศาล เพื่อสร้างวังเอาไว้เก็บน้องหนูทั้งหลาย ไม่ฟังคำท้วงติงจากเหล่าขุนนาง และกุนซือคนสำคัญ ทำให้ความแข็งแกร่งของแคว้นวู่ลดน้อยลง กัวเจี้ยนได้ทีจึงรวบรวมกำลังขับไล่กองทัพของวู่ออกไปได้อย่างราบคาบ ฝู่จ้ายเสียใจที่ไม่ฟังคำทัดทานของขุนนางก็เลยฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
ในตำนานเล่าว่า ไซซี Xi Shi ได้พบรักกับขุนนางหนุ่มคนหนึ่ง ได้หนีไปอาศัยอยู่ร่วมกันบนเรือประมงที่สัญจรไปมาในทะเลสาปไต้หู่ และไม่มีใครได้พบเห็นคนทั้งคู่อีกเลย ภายหลังพบว่าไซซี Xi Shi ได้จมน้ำตายในทะเลสาปแห่งนั้นนั่นเอง
นักภาษาศาสตร์บางท่านได้ให้ความเห็นว่า คำว่า Xi Shi ไม่น่าจะหมายถึงชื่อคน หรือบุคคล แต่หมายถึงความสวยงาม และความดีเลิศเสียมากกว่า และเชื่อว่ามันไม่ได้เป็นคำในภาษาจีน
- Lü Zhi 吕雉
จักรพรรดินีฮั่นเกาเป็นจักรพรรดินีพระองค์แรกของราชวงศ์ฮั่น ชื่อเดิมว่า ลหวี่จื้อ เมื่อพระเจ้าฮั่นเกาจู พระสวามี และพระเจ้าฮั่นฮุยตี้ พระโอรส ได้สิ้นพระชนม์ลง พระนางก็อุ้มชูให้หลานขึ้นนั่งบัลลังแทน คอยครอบงำ และบงการอยู่เบื้องหลังจักรพรรดิถึงสามพระองค์ เป็นเวลานานถึง 15 ปี ซึ่งจักรพรรดินีฮั่นเกา ได้ชื่อว่าเป็นสตรีที่โหดเหี้ยม ไร้ความปราณี และไร้มนุษยธรรม อย่างมากในประวัติศาสตร์จีน เป็นที่กล่าวขานกันว่าพระนางมีความสามารถในการปกครองบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการตั้งข้อสังเกตขึ้นมากมายถึงวิธีการที่พระนางใช้ในการรับมือกับศัตรูทางการเมือง จักรพรรดินีฮั่นเกาไม่เคยประกาศตนว่า เป็นผู้ปกครองหลักของจีน แต่ด้วยอำนาจที่พระนางถือไว้ในมือนั้น ทำให้นักประวัติศาสตร์หลาย ๆคนมองว่าพระนางคือจักรพรรดินีคนแรกที่ปกครองประเทศจีนร่วมกับจักรพรรดิหลาย ๆพระองค์
Lu Zhi เกิดเมื่อ พ.ศ. 241 ในมณฑลซานตง เป็นครอบครัวที่อยู่ในตระกูลขุนนาง ต่อมาเธอได้ย้ายตามบิดามาพำนักอยู่ที่เจียงสือด้วยเหตุผลทางการเมือง บิดาของนางซึ่งมีทักษะเศษในเรื่องการทำนายโชคชะตา เมื่อพบเห็นหลิวปัง เจ้าหน้าที่หนุ่มในหน่วยลาดตระเวน ก็รู้สึกประทับใจ ด้วยมองเห็นอนาคตอันสดใสของชายผู้นี้ จึงเอ่ยปากยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย
หลิวปังได้เข้าร่วมในการต่อสู้ และล้มล้างราชวงศ์ฉิน ในปี พ.ศ. 206 และสามารถสถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้น และรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ หลิวปังได้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิเกาจู และลหวี่จื้อได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินี Lu Zhi พระนาง Lu Zhi ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นผู้ปกครองที่มีความสามารถ สร้างกำแพงเมือง ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนยากจน และหาทางเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ นโยบายของพระนางได้ถูกมองว่าเป็นผลดีต่อชาติบ้านเมือง
อย่างไรก็ดี พระนางก็ถูกมองว่ามีความเหี้ยมโหด ครั้งหนึ่งได้เรียกขุนพลคู่ใจของจักรพรรดิเกาจู ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขในการก่อจลาจลโค่นล้มราชวงศ์ฉินเข้าพบที่พระราชวัง แล้วทำการทรมาน และประหารชีวิตทิ้งเสีย ด้วยมีข่าวลิอว่าขุนพลเหล่านั้นได้กำลังวางแผนต่อต้านจักรพรรดิ ครั้งนั้นบุคคลในครอบครัวของพวกเขาเหล่านั้น ก็ต้องตายไปพร้อม ๆกันด้วย
จักรพรรดิเกาจู ได้มองเห็นพฤติกรรมอันโหดร้ายทารุณของ Lu Zhi จึงได้มีความพยายามที่จะสนับสนุน พระสนมคนใหม่ เมื่อพระสนมให้กำเนิดบุตรชายขึ้นมา และเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ มีความเข้มแข็ง จนถูกมองว่าน่าจะเป็นจักรพรรดิที่ดีกว่าได้ Lu Zhi ได้ใช้ทักษะทางการเมืองของพระนาง เข้าโน้มน้าวบรรดาเหล่าขุนนาง ให้ทำการเปลี่ยนความคิดของจักรพรรดิ และตั้งตนเป็นศัตรูกับพระสนม และเจ้าชายองค์ใหม่
เมื่อจักรพรรดิเกาจูสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายในจักรพรรดินี Lu Zhi ได้ขึ้นครองราชย์แทนเป็นจักรพรรดิฮั่นฮุยตี้ โดยมีจักรพรรดินี Lu Zhi ครอบงำ และบงการอยู่เบื้องหลัง พระนางหาทางกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยวิธีการอันโหดร้าย และเป็นที่น่าอับอายอย่างมากในประวัติศาสตร์จีน นางสั่งให้โกนหัวพระสนมของพระเจ้าเกาจู และบังคับให้ทำงานหนัก ส่วนเจ้าชาย โอรสในพระสนมนางนั้น ก็ถูกเรียกเข้าไปในพระราชวัง จักรพรรดิฮั่นฮุยตี้เมื่อทรงทราบข่าว ก็ได้ทำการขัดขวาง และปกป้องน้องชายต่างมารดาของพระองค์ให้พ้นจากราชภัยครั้งนี้
เจ้าชายหาได้พ้นจากภัยไปตลอดอดฝั่งไม่ เมื่อคราวที่เจ้าชายได้ออกเดินทางไปล่าสัตว์อยู่นั้น เจ้าชายถูกลอบวางยาพิษ และถูกตัดใบหู แขน และขา อีกทั้งควักลูกตาออก จากนั้นก็ถูกนำไปคุมขัง จักรพรรดิฮั่นฮุยตี้ทรงทราบข่าวด้วยความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ตรัสกับพระมารดา จักรพรรดินี Lu Zhi ว่า
‘ ที่เกิดขึ้นมานี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่พึงกระทำ ในฐานะที่หม่อมฉันเป็นโอรสของพระมารดา หม่อมฉันมิอาจนั่งอยู่บนบัลลังก์นี้ เพื่อปกครองจักรวรรดินี้ได้สืบไป ‘ จักรพรรดิฮั่นฮุยตี้ที่ถูกมองว่า อ่อนแอ ทรงสละราชบัลลังก์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกิจการงานเมืองจนหมดสิ้นในเวลาต่อมา
- Diaochan 貂蝉
เตียวฉาน เป็นชื่อเรียกในภาษาจีนกลาง ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อว่า เตียวเสี้ยน ที่เป็นสำเนียงของจีนฮกเกี้ยน Diaochan เตียวเสี้ยนนี้คือชื่อของหนึ่งในสี่หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน ที่มีฉายาว่า จันทร์หลบโฉมสุดา ที่หมายถึง มีความงดงามมาก แม้แต่ดวงจันทร์ยังต้องหลบลี้หนีไปด้วยความอับอาย Diaochan เป็นตัวละครในวรรณกรรมจีนโบราณอิงประวัติศาสตร์ เรื่องสามก๊ก Romance of the Three Kingdoms
แม้ว่าการปรากฏตัวของ Diaochan เตียวเสี้ยน ในนวนิยายสามก๊ก ด้วย profile เพียงสั้น ๆเท่านั้น แต่นางก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ใหญ่หลวง ที่บันดาลให้มิตรกลับกลายมาเป็นศัตรูกันได้อย่างง่ายดาย เนื้อเรื่องคร่าว ๆกล่าวไว้ว่า อ้องอุ๋น ได้รับอุปการะเด็กหญิงกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ เตียวเสี้ยน Dioachan เมื่อเข้าสู่วัยสาว นางก็มีความงดงามเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่งอ้องอุ๋นเห็นเตียวเสี้ยนนั่งร้องไห้ ก็เข้าไปถามด้วยความห่วงใย นางตอบกลับมาว่า ด้วยความสงสารอ้องอุ๋น ผู้เป็นบิดาบุญธรรมที่กำลังกลุ้มอกกลุ้มใจเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่เข้าสู่ภาวะคับขันเต็มที นางจึงเสียใจ แต่เมื่ออ้องอุ๋นได้พิจารณาเห็นรูปลักษณ์ที่งดงามของลูกสาวบุญธรรม แล้วพึงคิดได้ว่า เห็นทีแผ่นดินนี้จะมีทางออกแล้ว จึงได้วางแผนที่จะทำให้ ตั๋งโต๊ะ และลิโป้ ขัดแย้ง และฆ่ากันเองในที่สุด โปรดอ่านรายละเอียดในหนังสือ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
- Wu Zetian 武则天
Wu Zetian เป็นจักรพรรดินีหญิงที่ขึ้นปกครองจีนอย่างเป็นทางการเพียงองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่มีมาอย่างยาวนาน หากนับรวมจักรพรรดิทั้งหมดกว่า 400 องค์พบว่าล้วนเป็นชาย Wu Zetian หรือที่คนไทยรู้จักกันว่า บูเช็คเทียน เป็นจักรพรรดินีหญิงเพียงคนเดียวที่สามารถชึ้นนั่งบัลลังก์ปกครองแผ่นดินจีนอย่างถูกต้อง และภาคภูมิ พระนางปกครองจักรวรรดิแห่งราชวงศ์ถัง ได้ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการรักษาเสถียรภาพของราชวงศ์ถัง แต่ก็เลื่องลือในเรื่องความโหดร้าย และขาดเมตตาธรรม เป็นอย่างยิ่ง พระนางสามารถทำได้ทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ประสงค์ไว้ ในฐานะจักรพรรดินี พระนางได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศจีนได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในวัยเด็ก Wu Zetian เล่ากันมาว่าเป็นเด็กซุกซนอย่างเด็กผู้ชาย ไม่ชอบการเย็บปักถักร้อย แต่กลับชอบหนังสือ และท่องเที่ยว เมื่อเข้าวัยสาว พบว่าเป็นหญิงที่สวยมาก จนถูกนำเข้าไปเป็นนางสนมของจักรพรรดิ ไต้ซอง ก่อนเข้าวัง แม่ของนางก็ฟูมฟายด้วยเกรงว่าลูกสาวของตัวเองจะมีภัย เพราะเป็นคนดื้อรั้น แต่ Wu zetian กลับเป็นฝ่ายปลอบโยนมารดาของตนว่า นี่แหละเป็นโอกาสทองของครอบครัว ที่ชนะการจับฉลากจนได้รับรางวัลใหญ่ สมาชิกในครอบครัวจะไม่ลำบากอีกต่อไป
Wu Zetian ได้เป็นนางสนมที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับฉลองพระองค์ของจักรพรรดิไต้ซอง แต่ด้วยมีความฉลาด และมีสติปัญญาเฉียบแหลมจึงเป็นที่โปรดปราณของจักรพรรดิเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันนางก็แอบไปมีความสัมพันธ์ลับ ๆกับราชโอรสของจักรพรรดิอีกด้วย เมื่อจักรพรรดิไตซองได้สิ้นพระชนม์ลง ราชโอรสก็สืบราชสมบัติแทนเป็น พระจักรพรรดิเกาจง Wu Zetian ก็ได้ขึ้นเป็นพระสนมเอกในพระจักรพรรดิองค์ใหม่ Wu Zetian ให้กำเนิดโอรสสององค์ และธิดาสององค์ พระนางได้ฆ่าลูกสาวคนแรกทิ้ง และป้ายสีให้กับพระมเหสี ทำให้จักรพรรดเกาจงเนรเทศพระมเหสีออกไป Wu Zetian จึงได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีองค์ใหม่แทน
Wu Zetian ครอบงำการเมืองการปกครองอยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่ว่าราชการอยู่หลังม่าน ทั้งนี้เพราะองค์จักรพรรดิเกาจงประชวรด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง ในฐานะผู้ปกครองบ้านเมือง พระนางประสบความสำเร็จในการปกครองหลาย ๆด้าน เมื่อจักรพรรดิเกาจงสิ้นพระชนม์ไป Wu Zetian ได้สนับสนุนให้โอรสองค์โตให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิในเวลาต่อมา แต่ด้วยความอ่อนแอของจักรพรรดิองค์ใหม่ ทำให้ถูกครอบงำโดยพระมเหสีของตนเองอย่างง่ายดาย เป็นเหตุให้ Wu Zetian ทำการเนรเทศทั้งจักรพรรดิ และมเหสีออกนอกเมืองไป และสนับสนุนโอรสองค์รองขึ้นนั่งบัลลังก์แทน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในที่สุด พระนางก็สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดินี Wu Zetian แห่งราชวงศ์โจว ในการนี้ได้ทำการปฏิวัติวงการทหารเป็นสำคัญ ทุ่มเทให้กับการศึกษาของเด็ก ๆในประเทศจีน และปฏิรูปการเกษตรกรรมทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่สูงตลอดเวลา นอกจากนี้ยังลดภาษีเพื่อช่วยเหลือชาวนาผู้ยากไร้ ซึ่งนโยบายเหล่านี้ได้รับความชื่นชมจากราษฏร และขุนนางทั้งหลายเป็นอย่างมาก
ในท้ายที่สุด Wu Zetian ก็ถูกบังคับให้สละราชสมบัติ เพราะถูกหวาดระแวงว่าพระนางมักมากในกามคุณ ใช้เวลากับชู้รักหนุ่ม ๆมากเกินไป พระนางสิ้นพระชนม์ลงหลังจากนั้นหนึ่งปี
ความมีชื่อเสียง และผลงานเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการในประเทศจีนของ Wu Zetian ได้ถูกบดบังด้วยบุคลิกภาพอันเหี้ยมโหดของพระนางอย่างสิ้นเชิง นักประวัติศาสตร์จะเขียนถึงพระนางในเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ แต่เรื่องความสามารถในการสร้างความแช็งแกร่งให้กับจีนนั้นกลับถูกนำมากล่าวอ้างอย่างน้อยนิด และไม่ยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดีเป็นที่แน่นอนเลยว่าชื่อของ Wu Zetian ไม่อาจถูกลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ชาติจีนได้เลย
- Yang Yuhuan 杨玉环
Yang Yuhuan หยางหยวน เป็นหนึ่งในผู้หญิงสวยไม่กี่คน ที่ความงามของเธอสร้างความหายนะ และก่อให้เกิดการล่มสลายลงของแผ่นดิน Yang Yuhuan เด็กหญิงผู้สูญเสียบิดา ได้รับการอุปการะจากลุงในช่วงเริ่มต้นของชีวิตที่มณฑลเสฉวน เมื่อจักรพรรดิซวนจง ได้สร้างบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่น ทรงสั่งให้มีการค้นหาผู้หญิงที่สวยงามที่สุดบนแผ่นดินจีน และเกิดต้องตาต้องใจในสาวน้อยวัย 18 ปี คือหยางหยวน Yang Yuhuan ที่ตอนนั้นเป็นสนมคนหนึ่งของเจ้าชายลิเหมา ผู้เป็นโอรสของจักรพรรดิซวนจงเอง แม้เจ้าชายลิเหมาจะพยายามทัดทานเพียงใดก็ไม่อาจฝืนประสงค์ของบิดาตนไปได้ หยางหยวน Yang Yuhuan จึงถูกนำมาเป็นสนมในวังของจักรพรรดิซวนจงตั้งแต่นั้นมา พระองค์ทรงลุ่มหลงในเสน่ห์ของนาง จนละเลยกิจการบ้านเมือง ใช้เวลาทั้งหมดกับหยางหยวน Yang Yuhuan และพระราชทานนามใหม่ให้ว่า หยางกุ้ยเฟย Yang Gui Fei
ครั้งหนึ่งหยางกุ้ยเฟย ได้กล่าววาจาที่ทำให้จักรพรรดิซวนจงขุ่นเคืองใจ จึงมีคำสั่งให้ส่งนางกลับไปยังบ้านเกิดของนางที่เสฉวนเป็นการลงโทษ ต่อมาก็ทรงนึกเสียพระทัยต่อการกระทำในครั้งนั้น หยางกุ้ยเฟยได้ใข้มารยาหญิงฝากบอกเป็นคำพูดให้ไปถึงหูจักรพรรดิต่าง ๆนานาว่า ความผิดของนางนั้น สมควรตายเป็นอย่างยิ่ง แต่องค์จักรพรรดิทรงเมตตาที่ไม่สั่งประหารนางเสีย แต่ทรงกรุณาส่งนางกลับมายังบ้านเกิด นางคงจะต้องออกจากวังเช่นนี้ตลอดไป ทรงเมตตาพระราชทานทองคำ หยก และของมีค่าอื่น ๆมากมาย สิ่งเหล่านี้ไม่บังควรเลยที่จะถวายกลับคืนไป สิ่งที่นางกล้าจะถวายต่อองค์จักรพรรดิได้นั้น มีเพียงร่างกาย และจิตใจที่พ่อ แม่ให้นางมาเท่านั้น จากนั้น หยางกุ้ยเฟยก็ได้ตัดผมของนาง ฝากขันทีคนสำคัญส่งไปให้จักรพรรดิ
จักรพรรดิซวนจงโปรดให้ขันทีนำนางเข้าเฝ้า และถวายตัวในพระราชวังดังเดิม ทรงรักใคร่เอ็นดูนางมากยิ่งขึ้น สร้างพระราชวังฤดูร้อนให้อย่างใหญ่โต มิโปรดว่าราชการแผ่นดินอีกเลย หยางกุ้ยเฟย สร้างอิทธิพลครอบงำ การเมือง การปกครอง และการทหารได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยนำญาติพี่น้องของนางเข้ามารับราชการในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลง สุดท้ายก็มีการก่อกบฏขึ้น จักรพรรดิซวนจง พร้อมด้วยหยางกุ้ยเฟยต้องหลบหนีไปยังเมืองเฉินตู ระหว่างทางเพื่อพักม้า และทหาร ขุนพลร่วมกันเรียกร้องให้จักรพรรดิทำการประหารหยางกุ้ยเฟยทิ้งเสีย ด้วยที่นางเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองล่มสลาย จักรพรรดิจึงจำใจที่ต้องสั่งให้ประหาร หยางกุ้ยเฟย ด้วยการแขวนคอ ที่ลานวัดกั้วหลี และฝังร่างนางไว้ที่หมู่บ้านหม่าเว่ย
- Xiaozhuang孝庄
ค.ศ. 1613-1688 จักรพรรดินีเสี่ยวจ้วง Xiaozhuang ถือว่าเป็นสตรีที่โดดเด่นมากในประวัติศาสตร์จีนโบราณ เป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานสูง มั่นใจในตัวเอง และรู้ถึงจิตใจตนเองเป็นอย่างดี จักรพรรดินีเสี่ยวจ้วง Xiozhuang ใช้เวลามากมายตลอดชีวิตถึง 52 ปี เพื่อช่วยจักรพรรดิในราชวงศ์ชิงถึงสามพระองค์ ในการวางรากฐานการปกครอง และพัฒนาประเทศจีน จัดได้ว่าเป็นนักปกครอง และนักการศึกษาคนสำคัญในประวัติศาสตร์จีน
จักรพรรดินีเสี่ยวจ้วง Xiaozhuang เป็นชาวมองโกลโดยกำเนิด จึงมีความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ประเพณีของมองโกล มีความสนใจด้านดนตรี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ พิธีกรรม การปกครอง เคยมีส่วนร่วมในการรังสรรค์บทกวีคลาสสิค สนใจในประวัติความเป็นมาของประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมพระพุทธศาสนา รวมทั้งสละทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนยามเกิดภัยพิบัติ
จักรพรรดินีเสี่ยวจ้วง Xiaozhuang เป็นสนมในพระจักรพรรดิหวงไท่จื้อ ให้กำเนิดพระโอรสซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ต่อมาคือ จักรพรรดิชันซี และเป็นพระอัยยิกาในจักรพรรดิคังซี ด้วยอัจฉริยะภาพ และประสบการณ์ทำให้พระนางเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยวางรากฐานของประเทศให้กับราชวงศ์ชิง ซึ่งนับเป็นเวลาที่เนิ่นนานถึง 52 ปี ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ในวัย 75 ปี
มีเรื่องราวที่มิอาจพิสูจน์ได้อยู่บางเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระนาง กับขุนนางใหญ่ ด้วยเหตุผลทางการเมือง เพื่อใช้ค้ำจุนบัลลังก์ของจักรพรรดิลูก และจักรพรรดิหลาน ซึ่งมักจะถูกเปิดโปงจากฝ่ายตรงข้าม ที่นักประวัติศาสตร์หลาย ๆท่านให้ความเห็นในเชิงที่ว่า เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนอีกฝ่ายที่เห็นแย้งได้อ้างถึงพระศพของจักรพรรดินีเสี่ยวจ้วง Xiaozhuang ถูกนำไปฝังไว้นอกกำแพงสุสานของราชวงศ์ชิง การฝังพระศพแยกออกมาต่างหาก ไม่รวมกับสมาชิกราชสกุลองค์อื่น ๆนั้น อาจเนื่องมาจากเหตุข้างต้นนี้ก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ดีหากท่านติดตามอ่านประวัติศาสตร์ของจีนโบราณ ก็จะรู้ได้ว่า พระจักรพรรดินีเสี่ยวจ้วง Xiaozhuang ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินจีนเป็นอย่างมาก
- Cixi 慈禧太后
ค.ศ. 1835-1908 พระนางฉือสีไท่โฮ่ว ตามสำเนียงจีนกลาง หรือที่คนไทยคุ้นหูในนาม พระนางซูสีไทเฮา ตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน ต้องยอมรับให้ได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ทางฟากฝั่งตะวันตก และญี่ปุ่น มีแสนยานุภาพที่แข็งแกร่ง สร้างความกดดันให้กับชาติเอเชียอื่น ๆเป็นอย่างมาก การล่าอาณานิคม และหาผลประโยชน์จากทรัพยากร แรงงานทาสจากชาติในเอเชียดำเนินไปอย่างอลหม่าน จีนที่เป็นชาติใหญ่ก็ถูกหมายตาเอาไว้ด้วยเช่นกัน
นักประวัติศาสตร์ทั้งจากฝั่งจีนเอง และทั้งจากฟากตะวันตกมักจะกล่าวหาว่า ซูสีไทเฮา Cixi นั้นเป็นผู้ปกครองที่กดขี่ และโหดร้าย เป็นต้นเหตุที่ทำให้ราชวงศ์ต้าชิงต้องล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่ว่า ในสภาวการณ์ข้างต้น ผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการจัดการกับปัญหาทั้งภายในประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน และปัญหาจากชาวต่างชาติที่รุมล้อมเข้ามา ต้องค้ำจุนบัลลังก์จักรพรรดิมาถึงสามพระองค์ และใช้เวลานานเกือบห้าสิบปีเพื่อพัฒนา และปฏิรูปบ้านเมือง เพื่อยับยั้งความโกลาหลภายในประเทศ แน่นอนว่ามันทำได้ไม่ง่ายเลย หรือแม้นว่าผู้ใดก็ตามที่คิดจะทำ ก็ถือได้ว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลยเช่นกัน
เรื่องราวเกี่ยวกับพระนางซูสีไทเฮา Cixi มีบันทึกค่อนข้างละเอียด และครอบคลุม เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจให้ขวนขวายนำมาอ่านเป็นอย่างมาก แต่อย่างที่เราน่าจะรู้กันได้บ้างก็คือ การบันทึกประวัติศาสตร์นั้น จะหาคนกลาง ๆที่จะบันทึกได้อย่างตรงไปตรงมานั้นไม่มีหรอกครับ จะด้วยสาเหตุที่ว่าไม่มีข้อมูล หรือได้ข้อมูลที่เท็จบ้าง จริงบ้าง คาดเดาเอาเองบ้างก็ตามที
ประวัติศาสตร์มักจะถูกมองว่าบันทึกโดยฝั่งผู้ชนะ แต่เชื่อเถิดครับว่าในฟากผู้แพ้เอง เขาก็มีบันทึกไว้เหมือนกัน สิ่งที่ตรงกันนั้นน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่น มีสงครามเกิดขึ้น มีโรคระบาดเกิดขึ้น หรือมีการตายเกิดขึ้น แต่เรื่องของสาเหตุ อุปนิสัยใจคอ ความคิดความอ่านของผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น การบันทึกจากทั้งสองฝ่ายอาจไม่ตรงกันเลยก็ได้ ถ้าไม่เชื่อลองพิสูจน์ด้วยการมองลึก ๆเข้าไปในตัวคุณเองดูสิ แล้วคุณจะพบว่า อืมม!! แม้แต่ใจเราเองก็ยังหวั่นไหว ไม่มั่นคงพอ ใจของเรามันก็ยากที่จะเชื่อถือได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ขอขอบคุณ https://www.123rf.com/stock-photo/ ที่สนับสนุนรูปภาพประจำเรื่อง
สำหรับคืนนี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับผม
One thought on “8 สตรีผู้มีอิทธิพลสูงยิ่งในประวัติศาสตร์จีนโบราณ”