บทกลอน: มหาวชิราลงกรณสดุดี อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

 

 

 

 

 

 

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

 

จวบปัจจุบันสมัย        ผิวใช่จะลำเค็ญ

ข้าฯบาทมิยากเข็ญ     ก็ ธ ทรงธำรงธรรม

ทรงขึ้นเถลิงราชย์        กิติชาติขจรล้ำ

จักรี ธ ทรงนำ             ชยโชติวัฒนา

๒๘ กรกฎ                  พสุทศมินทรา

เฉลิมพระชันษา          คณะราษฎร์ถวายชัย

ขอทรงพระเจริญ         มิเผชิญภยันต์ภัย

สำราญพระหฤทัย       วชิราชกษัตรา

                       

 

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ  บดินทรเทพยวรางกูร

ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม

ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ปวงข้าพระพุทธเจ้า

brain: www.bangkokbrain.com

ร้อยกรองข้างต้นเป็น อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ มีข้อกำหนดไว้ดังนี้ใน ๑ บทจะมี ๒ บาท และ ๑ บาทจะมี ๒ วรรค ในวรรคแรกมี ๕ พยางค์ วรรคหลังมี ๖ พยางค์ สัมผัสนอก สัมผัสใน และสัมผัสระหว่างบท ก็เหมือนกฎเกณฑ์บังคับที่มีอยู่ทั่วไปใน กาพย์ กลอน ต่าง ๆ  คำครุ และลหุ เป็นลูกเล่นที่ถูกเพิ่มเข้ามา จะไปช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่าน และการออกเสียงได้อย่างน่าฟังมากยิ่งขึ้น

::: คำครุ คือคำที่สะกดด้วยสระเสียงยาว เช่น อา อี โอ ไอ เอา

::: คำลหุ คือคำที่สะกดด้วยสระเสียงสั้น เช่น อะ อิ อุ และอนุโลมใน อำ หรืออักษรโดดเช่น ธ ฤ

::: สัมผัสบังคับ คือสัมผัสนอก ระหว่างวรรค ระหว่างบาท และระหว่างบท ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์

::: สัมผัสใน คือสัมผัสภายในวรรคเดียวกัน ไม่ใช่สัมผัสบังคับ เป็นลูกเล่นส่วนตัวของนักประพันธ์แต่ละคน

นอกเหนือจากข้อบังคับทั่วไปเหมือนในร้อยกรองอื่น การเพิ่มคำครุ คำลหุไปบังคับเพิ่มเติม ก็สร้างความยากให้กับผู้แต่งเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ก็จะได้ฉันท์ที่มีความไพเราะยิ่งขึ้นตามไปด้วย ผู้แต่งที่มีความเชี่ยวชาญจะมีความรู้เรื่องคำต่าง ๆเป็นอย่างดี ทำให้สามารถสร้างฉันท์ที่มีลีลาโลดโผน และงดงาม การใช้คำอย่างหลากหลาย ก็ทำให้ได้ความหมายที่หลายหลากตามไปด้วย บางครั้งการอ่านฉันท์ หรือบทร้อยกรองอื่น ๆจึงต้องตีความตามสมควร บางคราวจะเห็นว่าเมื่ออ่านไปแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องนำมาแปลความหมายกันอีกที นี่เป็นเรื่องธรรมดาเลย

เหตุที่ต้องใช้ทักษะที่ค่อนข้างสูงในการแต่งฉันท์ประเภทนี้ การอ่าน และการออกเสียงก็ต้องไม่ธรรมดาตามไปด้วย ผู้อ่านออกเสียงต้องมีลูกเล่นแพรวพราวตามสมควร เพื่อถ่ายทอดให้ได้อรรถรสตามที่ผู้ประพันธ์คาดหวังไว้ จากฉันท์ที่ผมแต่งไว้ข้างบนนั้น จะมีส่วนที่ขีดเส้นใต้เอาไว้ ด้วยเกรงว่าจะมีการออกเสียงไม่ได้ตามความต้องการ จึงอยากอธิบายเพิ่มเติมให้ดังนี้

ผิว อ่านว่า ผิ-วะ

ชยโชติ อ่านว่า ชะ-ยะ-โช-ติ

กรกฎ อ่านว่า กะ-รัก-กด

พสุทศมินทรา อ่านว่า พะ-สุ-ทด-สะ-มิน-ทรา

ความแพรวพราวในการใช้คำครุ และลหุ นอกเหนือจากสัมผัสที่คล้องจองนี้ เป็นเหตุให้เรียกร้อยกรองนี้ว่า อินทรวิเชียรฉันท์ ซึ่งเป็นร้อยกรองที่มีความไพเราะมากประเภทหนึ่ง เปรียบประดุจเพชรแห่งพระอัมรินทร์ผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ ที่ส่องประกายระยิบระยับ ร่ายลีลาให้ชวนหลงใหลเช่นนี้นี่เอง

ภาพนี้เอามาแต่งนิดหน่อย ดูคลาสสิก และสวยมาก

จากอินทรวิเชียรฉันท์ ที่ผมแต่งไว้ข้างต้น อยากสื่อความหมายดังนี้

“ ตราบจนถึงปัจจุบัน แม้นว่าจะประสบความทุกข์ยากในคราใดก็ตาม ราษฎรก็จะได้รับพระเมตตาธรรมจากพระเจ้าแผ่นดิน มาบรรเทาความทุกข์เข็ญเสมอมา พระผู้สืบสันตติวงศ์ที่ทรงพระเกียรติยศอันขจรขจาย  ได้ขึ้นเถลิงราชสมบัตินี้แล้ว พระองค์จะทรงมุ่งนำให้ราชวงศ์จักรีให้รุ่งเรือง เจริญงอกงามยิ่งขึ้นสืบไป  ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของ พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๑๐ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐนี้ ปวงราษฎรขอถวายพระพรแด่ พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเครื่องเพชรนิลจินดา ให้พระองค์ทรงพระเจริญ มิมีภยันตรายใดได้มาระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท “

ในช่วงที่ใกล้วันเฉลิมพระชนม์พรรษาของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิขราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูล รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี อันจะมีมาถึงในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม นี้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ภาพนี้ดูอบอุ่นในหลวงกับองค์ภา

ผมจึงถือเอาโอกาสในช่วงใกล้วันเฉลิมพระชนม์พรรษาในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ นี้ แต่ง มหาวชิราลงกรณสดุดี เป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ทูลเกล้าถวาย เมื่อสำเร็จแล้วจึงขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับผม

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *