รูปทรงของโคม ผลต่อทิศทางของแสง และการเลือกใช้

รูปทรงของโคม มีผลต่อทิศทางการกระจายของแสงโดยตรง นอกจากการออกแบบโคมให้ภายในดวงโคมสามารถสะท้อนแสงได้แตกต่างกันไปตามความต้องการ โดยใช้หลักการสะท้อนแสงในรูปแบบต่าง ๆแล้ว รูปทรงของดวงโคมที่หมายรวมไปถึงรูปทรงของตัวสะท้อนแสงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย อีกทั้งตำแหน่งของหลอดไฟภายในดวงโคม ที่สามารถทำให้เกิดลำแสงรูปทรงต่าง ๆที่แปลกตาออกไปได้อย่างน่าสนใจ สิ่งเหล่านี้ย่อมชี้ชวนให้ผู้ออกแบบแสงสว่างภายในบ้านต้องคำนึงถึง

การสะท้อนแสง

รูปแบบการสะท้อนแสง

วิธีการหลักในการควบคุมแสงจากแหล่งกำเนิดแสงคือ การตกกระทบ การสะท้อน และการหักเห ทั้งนี้รวมไปถึงปัจจัยอื่นเช่น การดูดกลืนแสง ( absorption ) การทะลุผ่าน ( transmission ) และสีของวัสดุรวมอยู่ด้วย

การสะท้อนแสงโดยตรง ( Specular reflection )

เป็นการสะท้อนแสงได้อย่างสมบูรณ์ เช่นการสะท้อนแสงจากกระจกเงา มุมตกกระทบของแสงจะเท่ากับมุมสะท้อน แสงจะถูกกระจายออกมาในทิศทางที่แน่นอน มุมสะท้อนของแสงเมื่อตกกระทบลงบนจุดต่าง ๆของพื้นผิวจะสม่ำเสมอ ซึ่งปรากฏการณ์ของแสงที่สะท้อนในลักษณะนี้จะเกิดโดยแสงได้ตกกระทบบนวัสดุที่มีผิวเรียบ และมีการขัดเงาสูงเช่น วัสดุที่ทำจากอะลูมีเนียมเคลือบ และขัดเงา ตัวอย่างโคมประเภทนี้ได้แก่ โคมไฟถนน   โคมฟลัดไลท์ ( floodlight )  โคมสปอทไลท์  ( spotlight ) เป็นต้น

การสะท้อนแสงแบบผสม ( Spread reflection )

จะให้การกระจายแสงในระดับปานกลาง อันเนื่องมาจาก แสงตกกระทบลงบนพื้นผิวที่ไม่ค่อยเรียบคือ วัสดุภายในดวงโคมจะทำด้วยโลหะ พลาสติก หรือแก้ว ที่ถูกกัดกร่อนด้วยกรดจนได้พื้นผิวสาก ๆเมื่อสัมผัส ทำให้แสงที่สะท้อนออกมามีการกระจายปานกลาง

การสะท้อนแสงแบบกระจายอย่างสมบูรณ์ ( Diffuse reflection )

จะให้แสงที่กระจายไปในทุกทิศทาง โดยไม่อาจควบคุมทิศทางของแสงได้ เนื่องมาจากแสงตกกระทบลงบนพื้นผิวที่หยาบ และขรุขระ ทำให้ได้มุมสะท้อนที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแสงได้ตกระทบลงไปบนส่วนใดของพื้นผิว การสะท้อนแสงในลักษณะนี้จะช่วยลดการเกิดเงา

รูปทรง ความโค้งของตัวสะท้อนแสงในดวงโคม ที่มีแบบทางเรขาคณิตเป็นหลักในการออกแบบจะมีส่วนทำให้ มีโฟกัสที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าลำแสงที่สะท้อนออกมาย่อมแตกต่างกันไปด้วย ตัวสะท้อนแสงแบบวงกลม จะทำให้ความเข้มของแสงเพิ่มเป็นสองเท่า เหมาะกับไฟสปอทไลท์ที่ใช้ในสตูดิโอ   สำหรับ ไฟฟลัดไลท์ที่นิยมออกแบบให้ตัวสะท้อนแสงเป็นรูปพาราโบลา การกำหนดจุดของตำแหน่งหลอดไฟให้ลึกเข้าไปในดวงโคม จะทำให้ได้แสงออกมาในแนวกว้าง ตัวสะท้อนแสงที่เป็นรูปวงรีนิยมใช้สำหรับไฟส่องลงด้านล่าง ( downlight )

รูปทรงของโคม ผลต่อทิศทางของแสง

โคม จะถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ต่างกัน ดวงโคมแบบตั้งพื้นลอยตัวมักมีความงดงามของส่วนที่เป็นขาตั้ง อาจออกแบบให้มีลำแสงส่องขึ้นด้านบน หรือเป็นโคมผ้าที่จะช่วยลดความจ้าของแสง ส่วนดวงโคมที่ติดตั้งบนฝ้าเพดานก็มีให้เลือกได้หลากหลายรูปแบบตามความประสงค์ว่า ต้องการให้มีการส่องสว่างแบบทั่วไป หรือต้องการให้ส่องสว่างแบบเฉพาะจุด มีทั้งแบบที่ห้อยแขวนบนเพดาน โคมระย้า โคมซ่อนในฝ้าเพดานเพื่อลดความกระด้างของแสง โคมเพดานทางเดิน หรือไฟกิ่งที่ใช้ส่องแสงขึ้นไปอาบผิวของผนัง ทำให้ดูนวลตา

นอกจากรูปทรงของโคม หรือตัวสะท้อนแสง วัสดุที่ใช้ ชนิดของหลอดไฟ และตำแหน่งของหลอดไฟภายในดวงโคมแล้ว องค์ประกอบแวดล้อมเช่น สีของผนังห้อง หรือผ้าม่านที่ยาวจากเพดานจรดพื้น เหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสะท้อน หรือกรองแสง ที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น หรืออบอุ่น สบายได้ตามใจปรารถนาเช่นกัน

สำหรับคืนนี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับ

One thought on “รูปทรงของโคม ผลต่อทิศทางของแสง และการเลือกใช้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *