ความเชื่อของคนญี่ปุ่น ที่ยังคงมีอยู่ และสืบทอดมาแต่กาลก่อน เป็นรากเหง้าที่หยั่งลึก และแผ่ไพศาลจนอาจเป็นบรรทัดฐาน และเป็นที่มาของขนบธรรมเนียมอันสุขุมนุ่มนวล แม้ว่าจะมีความเชื่อบางอย่างที่แตกต่างจากคนเอเชียอื่น ๆ แต่พื้นฐานโดยรวมแล้วคงคล้ายคลึงกันคือเพื่อ ความปลอดภัย ความมั่งคั่ง การบ่มเพาะนิสัยให้เป็นคนมีเมตตา กล้าหาญ อดทน ขยัน และไม่ประมาท ที่ยกมากล่าวไว้ในบทความนี้ เป็นเพียงบางส่วนของความเชื่อ ที่มีอย่างหลากหลายในสังคมคนญี่ปุ่น
ความเชื่อเกี่ยวกับการเกิด
::: การให้กำเนิดบุตรคนแรกของหญิงญี่ปุ่น เมื่อใกล้คลอดพวกเธอจะเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเองเพื่อให้กำเนิดบุตร ซึ่งในปัจจุบันความเชื่อนี้ยังคงมีอยู่ เพียงอาจทำการคลอดที่โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านพ่อ และแม่ของพวกเธอแทน ซึ่งความเชื่อนี้ มีความใกล้เคียงกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ดังที่เราเคยรู้จากพุทธประวัติ
::: การรักษาสายสะดือ ทางโรงพยาบาลจะเก็บสายสะดือไว้ในกล่องไม้ และมอบให้แก่มารดาในวันที่ออกจากโรงพยาบาล ซึ่งแม่จะนำกล่องสายสะดือของทารกน้อยไปเก็บรักษาไว้อย่างดี โดยมีความเชื่อว่า นี้เป็นสิ่งที่แสดงความผูกพันอันแนบแน่นของครอบครัว และจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ทารกน้อยมีความเป็นอยู่ที่ดี
::: คนญี่ปุ่นก็มีธรรมเนียมการรับขวัญหลาน ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่คล้ายกับคนไทย ทารกน้อยจะได้รับของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆจากญาติ และเพื่อนบ้าน
::: คุณตาของบรรดาหลานตัวน้อย ๆ จะเป็นผู้ที่ได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าญาติผู้ใหญ่คนอื่น คือจะเป็นผู้ที่ตั้งชื่อให้กับหลาน ๆ พิธีนี้เรียกว่า oshichiyas ซึ่งจะมีขึ้นภายหลังจากที่เจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลกได้หนึ่งสัปดาห์ ทารกน้อยจะอยู่ในเครื่องนุ่งห่มสีขาว ที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ตามหลักศาสนาชินโต โดยคุณตาจะใช้พูกันเขียน ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีที่เกิดบนกระดาษมงคล และให้ผู้เป็นพ่อ และแม่ของทารกน้อย นำไปเก็บรักษาไว้ที่วัด หรือวางไว้บนหิ้งพระที่บ้าน หรือไม่ก็ใส่กรอบติดไว้บนผนังบ้าน
::: พิธีครบ 17 วัน คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเด็กแรกเกิดนั้น มีความบริสุทธิ์ และไร้มลทิน ยิ่งไปกว่านั้นยังเชื่อมโยงกับพลังอำนาจที่อยู่เบื้องบน เด็กเกิดใหม่จึงมักถูกห่อหุ้มด้วยชุดสีขาวเท่านั้น จนเมื่ออายุครบ 17 วัน ซึ่งนานพอที่จะทำให้เชื่อได้ว่า ทารกน้อยนั้นเป็นมนุษย์จริง ๆ ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า พ่อ และแม่ จะทำการเปลี่ยนชุดของลูกน้อยให้เป็นสีสันอื่น ๆ
::: คุณย่า เป็นญาติผู้ใหญ่คนสำคัญอีกคนหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นคุณย่าเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่จะมีสิทธิอุ้ม และพาหลานแรกเกิดไปเยี่ยมวัดในหมู่บ้าน เพื่อทำพิธีอันเป็นมงคลที่เรียกว่า omiyamairi ให้กับทารกน้อย โดยธรรมเนียมของญี่ปุ่น กำหนดให้พาทารกชายที่มีอายุครบ 31 วัน และทารกหญิงที่มีอายุครบ 33 วัน ไปทำพิธีที่วัดในหมู่บ้านที่เด็กเกิด ซึ่งคนญี่ปุ่นถือว่าเด็กที่เกิดในหมู่บ้านไหน จะต้องเป็นสมาชิกของวัดในหมู่บ้านนั้น ในพิธีนี้ ทารกน้อยจะถูกแต่งตัวให้อยู่ในชุดกิโมโน และถูกพาไปที่วัด เพื่อทำพิธีให้เด็กน้อยได้รับการปกป้องจากวิญญาณที่อยู่รอบ ๆตัว
::: ตุ๊กตาหมาที่ทำจากกระดาษ มักถูกนำไปวางไว้ใกล้ ๆเด็กน้อย เพราะมีความเชื่อว่า หมากระดาษตัวนั้นจะเป็นผู้รับเคราะห์กรรมต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้นแทนทารกน้อย จึงมักนิยมให้ตุ๊กตาหมาแก่เด็กแรกเกิดเป็นของขวัญ
::: การเสี่ยงทาย คุณพ่อ และคุณแม่ชาวญี่ปุ่นที่ต้องการรู้ว่า อนาคตลูกของตนจะเป็นอย่างไร ก็จะทำการเสี่ยงทาย โดยให้ลูกชายเลือกระหว่างลูกคิด และพูกัน สำหรับลูกสาวก็ให้เลือกระหว่างไม้บรรทัด กับเครื่องเย็บปักถักร้อย
ความเชื่อเกี่ยวกับคู่ครอง และการแต่งงาน
::: มีความเชื่อในสังคมญี่ปุ่นเอาไว้ว่า หญิงสาวที่เกิดในปีม้าไฟ คือปีมะเมีย ธาตุไฟ ตามปฏิทินดั้งเดิมของญี่ปุ่น จะเป็นสตรีต้องห้ามในเรื่องการมีคู่ครอง เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ชายผู้เป็นที่รักต้องมีอันเป็นไป ส่งผลให้ผู้หญิงที่เกิดในปีดังกล่าวจึงมักอาภัพคู่ครอง ไม่มีโอกาสได้แต่งงาน ครอบครัวต่าง ๆ จึงพยายามหลีกเลี่ยงให้มีการตั้งครรภ์ที่จะมีกำหนดคลอดในปีเหล่านี้
::: ในพิธีมงคลสมรสของคนญี่ปุ่น จะมีข้อห้ามไม่ให้มีการเลี้ยงน้ำชาในงาน เพราะเชื่อว่าจะมีสิ่งอัปมงคลเกิดขึ้น แต่จะนำดอกซากุระดองเกลือมาชงแจกให้กับแขกที่มาร่วมงานแทน
ความเชื่อเกี่ยวกับตัวเลข
เช่นเดียวกับชนชาติต่าง ๆ ความเชื่อของคนญี่ปุ่น เกี่ยวกับตัวเลขก็มีมากเหมือนกัน ตัวเลขอัปมงคลสำหรับชายชาวญี่ปุ่นคือ 25 42 และ 61 ในขณะที่ฝ่ายหญิงก็กลัวเลข 19 33 และ 37 ที่ผมทำสีแดงเอาไว้นั้น เป็นเลขสุดซวยสำหรับชาย และหญิงเลย ชายที่มีอายุ 42 ปี หรือหญิงที่มีอายุ 33 ปี หากให้กำเนิดบุตร ธิดาในช่วงอายุดังกล่าว คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเด็กที่เกิดมาจะประสบเคราะห์กรรม หากหลีกเลี่ยงไม่พ้น ก็ต้องทำพิธีแก้เคล็ด โดยนำเด็กไปทิ้งที่ไว้ที่ทางสี่แพร่ง แล้วให้คนรู้จักตามไปเก็บมาคืนให้ ส่วนสาเหตุที่เลขสองตัวดังกล่าว ถูกเชื่อว่าเป็นเลขอัปมงคล ก็เพราะว่าเมื่ออ่านออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้ว มันคล้ายกับคำว่า ตาย และคำว่า สยดสยอง นั่นเอง
ความเชื่อเกี่ยวกับแมลงปอ
เมื่อครั้งจักรพรรดิยิมมูอยู่บนยอดเขาสูง และมองลงมาข้างล่างเห็นว่าเกาะแก่งต่าง ๆของญี่ปุ่นนั้นมีรูปร่างคล้ายกับแมลงปอกำลังเลียหางอยู่ ในสมัยโบราณคนญี่ปุ่นจึงเรียกประเทศของตนว่า อกิสึมา หรือ ยามาโต ที่แปลว่าเกาะแห่งแมลงปอ ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าแมลงปอจะเป็นพาหนะนำดวงวิญญาณของบรรพบุรษมาเยี่ยมบ้าน และลูกหลาน ในวันที่ 13-15 เดือน 7 ตามปฏิทินญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่วงเทศกาล บอน ในวันดังกล่าวผู้ใหญ่จะห้ามไม่ให้เด็ก ๆ ทำร้าย หรือฆ่าแมลงปอ โดยเฉพาะแมลงปอผี โซเรียล ทอมโบ คนญี่ปุ่นยกย่องแมลงปอว่า เป็นสัตว์ที่แข็งแรง นักสู้ที่เก่งกาจ ซึ่งสามารถเอาชนะสัตว์ที่ใหญ่กว่าได้ เด็ก ๆชาวญี่ปุ่นจึงมักใช้แมลงปอเป็นสัญญลักษณ์ที่พบเห็นทั่วไปในวงการกีฬา เสื้อผ้า หรือแม้แต่ทำเป็นเครื่องรางของขลัง
ความเชื่อเกี่ยวกับทิศ
ความเชื่อของคนญี่ปุ่น เกี่ยวกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือว่า เป็นทิศที่ไม่ดี เพราะเป็นที่อาศัยของสิ่งชั่วร้าย การสร้างบ้านแปลงเมืองจึงมีข้อห้ามสำหรับทิศนี้ ไม่หันหน้าบ้านไปทางทิศนี้ หรือไม่ทำประตู หน้าต่าง หรือช่องต่าง ๆให้หันหน้าไปทางทิศนี้ เพื่อไม่ให้เป็นทางผ่านสำหรับสิ่งชั่วร้าย ในระดับเมือง ก็มีการสร้างวัดที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เป็นที่สกัดกั้นสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามากล้ำกรายในเมือง
ความเชื่อเกี่ยวกับกระจก
คนญี่ปุ่นถือว่าตนเองเป็นลูกพระอาทิตย์ เพราะเชื่อว่าเทพที่สร้างเกาะญี่ปุ่นขึ้นมาคือพระอาทิตย์ที่ชื่อว่า เทพอามะเตราซุ โอมิคามิ เมื่อสร้างสำเร็จแล้วก็ส่งจักรพรรดิให้มาปกครอง และมอบของวิเศษให้สามอย่างคือ ดาบ เพชร และกระจก ซึ่งจะทำให้มีความกล้าหาญ และเข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถ และมีไหวพริบปฏิภาณเป็นเลิศ ด้วยเหตุนี้นี่เองจึงทำให้กระจกถูกยกย่องว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จึงมักพบเห็นการแขวนกระจกตามบ้านเรือน ห้างร้านต่าง ๆ และในวัดวาอารามก็ด้วยความเชื่อนี้
ความเชื่อเกี่ยวกับความตาย
หากมีคนที่เพิ่งตาย หรือใกล้ตายนอนอยู่ในบ้าน คนญี่ปุ่นจะทำพิธีการให้น้ำครั้งสุดท้าย โดยนำผ้าสะอาดมาชุบน้ำ และนำไปพันอยู่บนปลายด้านหนึ่งของตะเกียบ จากนั้นก็นำไปแตะที่ริมฝีปากของร่างที่ใกล้ตาย หรือคนที่เพิ่งตาย คลึงไปมาอย่างนั้น หากพบว่ามีการตายเกิดขึ้นแล้ว ที่บ้านหลังนั้นจะทำการกลับด้านของม่านไม้ไผ่ที่แขวนอยู่หน้าบ้าน และเขียนข้อความว่า ‘อยู่ในขณะไว้ทุกข์’ เมื่อเสร็จพิธีนี้แล้ว ก็จะนำกระจกบานเล็กมาส่องที่หน้าของร่างที่จวนแตกดับ หรือดับสลายลงไปแล้ว เพราะเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายจะเข้าไปอยู่ในกระจก แล้วจึงหุ้มกระจกนั้นด้วยผ้าไหม จากนั้นจึงนำไปเก็บไว้ในหีบที่เขียนชื่อผู้ตายไว้ ส่วนร่างก็จะถูกนำไปทำพิธีเผาต่อไป
บทสรุปเกี่ยวกับความเชื่อ
หลาย ๆความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ได้ถูกหล่อหลอมจนมาเป็นวัฒนธรรมอันอ่อนช้อย และงดงาม สร้างความหลงใหลให้กับผู้มาเยือน ญี่ปุุ่นมี เทศกาล bamboo light เป็นเทศกาลประจำปี ที่สวยงามอันเกิดจากความเชื่อ ความศรัทธา และจากเรื่องราวในอดีตที่พึงยกมาเป็นตัวอย่าง
แม้ว่าผู้อ่านได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ตาม ผมก็ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าคุณมีความศรัทธาต่อ ความเชื่อของคนญี่ปุ่น หรือความเชื่อที่มีอยู่ในทุกซอกทุกมุมบนพื้นโลกนี้ได้อย่างมากน้อยแค่ไหน บางความเชื่อที่เราไม่คุ้นเคยก็อาจทำให้มองได้ว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เผ่าพันธุ์ใดก็ตามที่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ หรือทันสมัยสักปานใด หากเจาะลึกเข้าไปสังเกตใกล้ ๆ เราจะยังพบการมีอยู่ของความเชื่อในรูปแบบต่าง ๆที่ไม่อาจอธิบายได้ หรือถ้าอธิบายได้บางครั้งก็ดูจะไม่สมเหตุสมผล แต่คุณควรเชื่อไว้อย่างหนึ่งว่า ความเชื่อที่ดูจะพิลึกนั้นมันมีอยู่ในทุกวงการ แม้แต่วงการวิทยาศาสตร์เอง นี่แหละตัวดีเลย เคยได้ยินไม๊ล่ะว่า เวลาเขาจะส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรบนอวกาศนั้นน่ะ เขาห้ามเจ้าหน้าที่ และบุคคลที่อยู่ในหอปฏิบัติการนั้นผูกไทด์ ใส่สูท ผมเป็นคนหนึ่งที่จะไม่พยายามเข้าไปวิจารณ์ความเชื่อของคนอื่น เพราะนั่นอาจเป็นความหวังเพียงสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ของเขา ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เขามีกำลังใจที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างผาสุกในแบบฉบับของเขาเอง
สำหรับคืนนี้ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับผม