ไผ่แดง นิยายเสียดสีสังคม และการเมือง
ไผ่แดง เป็นนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งของ คุณชายคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้รับการตีพิมพ์อยู่หลายครั้ง และถูกนำไปแปลเป็นหลายภาษา ที่ก่อนหน้านี้ถูกพิมพ์เป็นตอน ๆ ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในช่วงปี 2497 ที่โลกตกอยู่ในห้วงของสงครามเย็น ระหว่างเสรีนิยม กับคอมมิวนิสต์ ซึ่งในตอนนั้นต้องยอมรับกันว่า ผู้คนในสังคมไทย ที่เพิ่งเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ได้ไม่กี่ปี ยังคงสับสน และยังขาดความเข้าใจ ในขณะที่ ความรู้สึกให้เกรงกลัวต่อคอมมิวนิสต์ ถูกใส่เข้ามาในหัวของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆที่คนในยุคนั้นไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร ไผ่แดง เป็นหนังสือแนวเสียดสีสังคม ที่พิมพ์ออกมาได้อย่างเหมาะสมกับช่วงเวลาในขณะนั้น ที่ช่วยบรรเทาความตึงเครียด จากความหวาดกลัว ต่อระบอบสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์
การเมืองไทยในยุคนั้น มีความหวาดระแวง ต่อคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก เกิดความขัดแย้งในกลุ่มคนที่ นิยมในลัทธิใหม่ กับกลุ่มคนที่นิยมในลัทธิเก่า ในประเทศเต็มไปด้วยข่าวลือ ที่ออกมาจากคนทั้งสองกลุ่ม ฟากฝั่งของรัฐเองก็ออกนโยบาย เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม ที่บางครั้งก็ดูพิสดาร จนมีคนสำคัญหลายท่านออกมาวิจารณ์ว่า เป็นนโยบายที่ ทำลายรากเหง้าของคนไทย
นวนิยายแนวเสียดสีสังคม และการเมือง มีเอกลักษณ์บางอย่าง ที่สร้างความสนุกได้อย่างเหลือเชื่ออย่าง ไผ่แดง ทั้งที่กรอบของเรื่องเป็น การชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งของคนสองกลุ่ม ที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน และมักสร้างความรุนแรง ให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่หากนำมาเขียนเป็นนวนิยายแล้ว ผู้เขียนกลับใส่อารมณ์ขัน ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึง พฤติกรรม และความคิดอันแปลกประหลาด ของผู้ที่มีอุดมการณ์ แต่ไม่สามารถเข้าใจมันได้ดีพออย่าง แกว่น แก่นกำจร หรือกับคนที่น่าจะแสดงบทบาทเท่าที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่อาจหลุดพ้น จนต้องถูกดึงเข้าไปสู่วังวนของสังคมอันวุ่นวายได้อย่าง สมภารกร่าง จึงเป็นที่มาของความสนุก และดูเป็นเรื่องที่ชวนให้ขบขัน ซึ่งทำให้คนอ่านมองว่า คอมมิวนิสต์เลวน้อยลง และไม่ควรหวาดหวั่นจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไปช่วยลดความดีเลิศของ เสรีนิยม ให้กลับสู่ระดับปกติ จนพอที่จะจับต้องได้ สร้างความเป็นธรรม และให้ความเคารพ ต่ออุดมการณ์ของกันและกัน
วิถีที่แตกต่าง แต่มีจุดหมายเดียวกัน
ตัวละครในเรื่อง ที่มีความเชื่อในลัทธิที่แตกต่างกัน จึงมักจะเกิดการปะทะกัน ทางความคิดเสมอมา ความเฉียบคมทางความคิดของฝ่ายหนึ่ง สามารถทำให้อีกฝ่ายหนึ่งโอนอ่อนลงได้ ในขณะที่ความคิดอันดุดัน เผ็ดร้อนของฝ่ายหลัง ก็ชวนให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว ให้กับฝ่ายตรงข้ามได้ไม่ยาก ในบทประพันธ์ ที่เรื่องราวเกิดขึ้นในชนบทไทย เป็นสังคมเล็ก ๆที่ผู้คนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ตัวละครหลักที่เป็นเพื่อนกันมาแต่เล็ก ถูกครอบงำด้วยลัทธิ และความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองก็มุ่งมั่นให้เกิดความผาสุก แก่ชาวบ้านเหมือน ๆกัน ซึ่งโดยลึก ๆแล้ว ทั้งสองต่างให้การยอมรับซึ่งกันและกัน เพียงแต่การมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันนั้น มีหนทางที่แตกต่างกันนั่นเอง
เช่นเดียวกับ กาเหว่าที่บางเพลง ที่ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ดัดแปลงมาจาก The Midwich Cackoos ของ จอห์น วินด์แฮม ไผ่แดง ก็เป็นบทประพันธ์ที่ดัดแปลงมากจาก The Little World of Don Camillo ของ Giovanni Guareschi ในบทความนี้จะไม่กล่าวถึง ไผ่แดง ในรายละเอียดมากนัก หากคุณสนใจขอเชิญที่ด้านบน สำหรับ The Little World of Don Camillo มีการแปลเป็นภาษาไทยโดย นพดล เวชสวัสดิ์ ที่พอจะซื้อหามาอ่านกันได้ จึงอยากกล่าวถึงแต่ผู้เขียนเรื่องนี้แทน
อ่าน The Little World of Don Camillo ผ่านประวัติของ จีโอวานนี กัวริชชี
เล็ก ๆน้อย ๆเกี่ยวกับ The Little World of Don Camillo
ในหนังสือ The Little world Of Don Camillo จีโอวานนี กัวริชชี ได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในหมูบ้านเล็ก ๆแห่งหนึ่งในหุบเขา ริมแม่น้ำโปที่อยู่ค่อนไปทางเหนือของอิตาลีในช่วงต้นของสงคราม Camillo เป็นนักบวชหัวร้อน ร่างกายสูงใหญ่ และแข็งแรงมาก เป็นผู้ที่ศรัทธาในพระคริสต์ ในนิกายโรมันคาทอลิค เขามักขัดแย้งกับ Peppone นายกเทศมนตรี ที่มีอุดมการณ์มั่นคงในพรรคคอมมิวนิสต์ และมักเกิดการทะเลาะกันอย่างดุเดือดระหว่างคนทั้งสอง แต่ในทางลับ เขาทั้งสองต่างยกย่อง และชื่นชมซึ่งกันและกัน แต่ด้วยความเชื่อ และความศรัทธาในลัทธิที่แตกต่าง จึงไปแบ่งแยกพวกเขาออกเป็นคนละฝ่าย จีโอวานนี กัวรัชชี เขียนถึงความขัดแย้งของคนทั้งสองได้อย่างมีชีวิตชีวา สอดแทรกอารมณ์ขันเข้าไปได้อย่างกลมกลืน และให้เรื่องราวทั้งมวลจบลงได้อย่างมีความสุข ตรงที่ Peppone ได้รู้ว่าคำว่า คอมมิวนิสต์เป็นคำที่ว่างเปล่า และน่าขบขันเป็นอย่างยิ่ง
อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า เราไม่มีบทคัดย่อของหนังสือทั้งสองเล่มให้อ่าน หากคุณสนใจ ไผ่แดง คุณสามารถหาซื้อได้ตามลิงค์ข้างบน และสำหรับ The Little World of Don Camillo ทั้งฉบับภาษาอังกฤษ และที่แปลเป็นไทยลองหาตามร้านหนังสือดูก่อนนะครับ หากหาไม่ได้จริง ๆ ผมมีเป็นไฟล์ PDF ฉบับภาษาอังกฤษ ให้ติดต่อมาครับ ถัดจากนี้ไปผมแปลมาจากคำนำของหนังสือที่ จีโอวานนี กัวรัชชี เขียนถึงตัวเขาเอง ซึ่งผมคิดว่า ประวัติ พฤติกรรม และเหตุการณ์บางส่วนในชีวิตของเขา มีส่วนอย่างมากในหนังสือเล่มนี้ ขอออกตัวเกี่ยวกับ การแปลที่อาจบกพร่องไปบ้าง ด้วยทักษะทางภาษาอังกฤษที่ไม่ค่อยแข็งแรง ผู้รู้โปรดแก้ไขในใจได้ตามสะดวกเลยครับ
ข้าพเจ้าเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร
หยิก
ชีวิตของข้าพเจ้าได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1908 ท่ามกลางสิ่งหนึ่ง ไปยังอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งมันยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ
ในตอนที่ข้าพเจ้าเกิด แม่ของข้าพเจ้าเป็นครูสอนในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งมาแล้วเก้าปี และท่านก็ยังคงสอนต่อไปจนถึงสิ้นปี 1949 และเพื่อเป็นการระลึกถึงงานสอนที่แม่ทำมา คุณพ่อ (นักบวช ) ของโบสถ์ประจำหมู่บ้าน ได้มอบนาฬิกาปลุก ให้แก่แม่มาหนึ่งเรือน ในนามของคนทั้งหมู่บ้านนั้น และหลังจากห้าสิบปี แห่งการสอนในโรงเรียนที่ปราศจากแสงไฟ และน้ำ แต่ได้รับการชดเชยด้วย เหล่าบรรดา แมลงสาบ แมลงวัน และยุง ที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งในตอนนั้น แม่ของข้าพเจ้าเฝ้ารอคอยเวลา ที่รัฐจะพิจารณาคำร้องขอของแม่ สำหรับบำนาญของแม่ ไปพร้อม ๆกับการฟังเสียง ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก ของนาฬิกาปลุกเรือนที่ได้รับมาจากคนในหมู่บ้าน
ในช่วงเวลานั้น ที่ข้าพเจ้าได้เกิดขึ้นมา พ่อของข้าพเจ้ามีความสนใจ ในเรื่องเครื่องยนต์กลไกทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร ไปจนถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียง พ่อไว้หนวดยาว ที่คล้ายกันมากกับอันที่อยู่ใต้จมูกของข้าพเจ้า พ่อยังคงมีหนวดที่สวยงาม แต่บางครั้งพ่อก็ไม่สนใจอะไรมากนัก พ่อใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือพิมพ์ และในบางครั้งก็อ่านสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ด้วย แต่พ่อก็ไม่ค่อยชอบวิธีการเขียน และวิธีการคิดของข้าพเจ้ามากนัก
พ่อของข้าพเจ้าเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมาก พ่อเดินทางไปทั่วด้วยรถยนต์ ในเวลานั้น ที่อิตาลี ผองชนต่างมุ่งหน้าจากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่ง เพื่อที่จะดูจักรเย็บผ้าที่ทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ความทรงจำเดียวที่ข้าพเจ้ามี เกี่ยวกับของโบราณอันงดงามเหล่านี้ ก็คือ แตรรถยนต์เก่า ๆ ที่เป็นแบบที่มีลูกยางให้บีบ พ่อของข้าพเจ้าจะติดแตรลูกยางนี้ไว้ที่หัวเตียง และจะได้ยินเสียงของมันบ่อยมาก โดยเฉพาะในหน้าร้อน
ข้าพเจ้ามีพี่ชายด้วย แต่เราเพิ่งมีเรื่องโต้เถียงกัน เมื่อสองสัปดาห์ก่อน และข้าพเจ้าไม่อยากคุยกับเขานอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ข้าพเจ้ายังมีรถมอเตอร์ไซด์ขนาดสี่สูบอยู่คันหนึ่ง กับรถยนต์ขนาดหกสูบอีกคันหนึ่ง มีเมียหนึ่งคน กับลูกอีกสองซะด้วย
หยอก
พ่อ และแม่ของข้าพเจ้าเคยตัดสินใจว่า ข้าพเจ้านั้นควรได้เป็นวิศวกรทหารเรือ และดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเรียนจบมาทางกฎหมาย และดังนั้นอีกครั้ง ในเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ข้าพเจ้ากลับกลายเป็นคนมีชื่อเสียงในฐานะของศิลปินเขียนป้าย และนักวาดการ์ตูนล้อเลียน
เพราะว่าไม่มีใครสักคนในโรงเรียน ที่จะทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนการวาดภาพ การวาดภาพจึงมีเสน่ห์ดึงดูดใจข้าพเจ้าเป็นพิเศษ และหลังจากงานเกี่ยวกับการวาดการ์ตูนล้อเลียน และงานทำป้ายโฆษณาในที่สาธารณะแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปเรียนการแกะสลักไม้ และการออกแบบ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าก็วุ่น ๆอยู่กับการทำงานเป็นคนเฝ้าประตูในโรงกลั่นน้ำตาล และอ้อ ! เป็นหัวหน้าคนงานรับรถจักรยานที่ลานจอดรถแห่งหนึ่งอีกด้วย
ข้าพเจ้าไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับดนตรีนัก ข้าพเจ้าจึงเริ่มให้บทเรียนกับเพื่อนบางคน ด้วยแมนโดรินเพื่อเป็นการสั่งสอน ข้าพเจ้ามีสถิติอันยอดเยี่ยมในฐานะนักสำรวจสำมะโนประชากร และยังเป็นครูในโรงเรียนประจำแห่งหนึ่ง จากนั้นข้าพเจ้าก็ได้งานพิสูจน์อักษรที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง และเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้เล็ก ๆน้อย ๆ ข้าพเจ้าจึงเริ่มเขียนเรื่องราวที่เป็นกิจกรรมในท้องถิ่น เวลาว่างในวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารรายสัปดาห์ ที่ต้องวางขายในเช้าวันจันทร์ และเพื่อเร่งให้มันออกมาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ข้าพเจ้าจึงรับหน้าที่เป็นนักเขียนซะเอง ซึ่งผลงานสามในสี่ส่วนของแมกกาซีนฉบับนั้นเป็นของข้าพเจ้าเอง
เสียดสี
อยู่มาวันหนึ่ง ข้าพเจ้านั่งรถไฟเพื่อไปที่มิลาน ที่นั่นข้าพเจ้าได้พาตัวเองเข้าไปที่ Bertoldo ผู้พิมพ์นิตยสารแนวเฮฮา ที่นี่เองที่ข้าพเจ้าถูกบังคับให้หยุดเขียน แต่กลับได้รับอนุญาตให้วาดรูปแทน ข้าพเจ้าใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ โดยการใช้สีขาว วาดลงบนกระดาษสีดำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างพื้นที่อันหดหู่ได้อย่างมากมายบนนิตยสารแนวขบขันเล่มนั้น
ข้าพเจ้าเกิดที่ ปาร์มา ใกล้ ๆกับแม่น้ำโป ซึ่งคนแถบนี้มีหัวที่มีน้ำหนักพอ ๆกับหมูที่ทำจากเหล็ก และแล้วข้าพเจ้าก็ประสบความสำเร็จ ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าบรรณาธิการของ Bertoldo และที่นี่เป็นนิตยสารที่ Saul Steinberg ( เป็นอเมริกัน-โรมาเนีย, นักเขียนการ์ตูนประจำ The New Yorker ) เผยแพร่ภาพวาดชิ้นแรกของเขา ซึ่งในขณะนั้นเขายังศึกษาอยู่ที่ คณะสถาปัตยกรรม มิลาน และเขาได้ทำงานที่นี่จนกระทั่งเขาเดินทางไปสหรัฐ และสร้างชื่อเสียงในฐานะนักวาดการ์ตูนประจำ The New Yorker
ด้วยเหตุผลที่เกินการควบคุมได้ของข้าพเจ้า มีสงครามเกิดขึ้น และในวันหนึ่งของปี 1942 ข้าพเจ้าอยู่ในภาวะมึนเมาอย่างมาก เพราะพี่ชายของข้าพเจ้าได้หายไปในรัสเซีย และข้าพเจ้าไม่สามารถค้นหาข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเขาได้เลย
คืนนั้นข้าพเจ้าได้ขึ้นไปตามถนนของมิลาน พร้อมด้วยใบปลิวปึกหนึ่ง และตะโกนหาพี่ชายที่หายไป ข้าพเจ้าพบว่าได้ถูกตำรวจจับในวันรุ่งขึ้น มีผู้คนจำนวนมากแสดงความกังวล เกี่ยวกับตัวข้าพเจ้า จนในที่สุด เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยตัวข้าพเจ้าออกมา อย่างไรก็ดี ตำรวจต้องการให้ข้าพเจ้าหมดสภาพ และดังนั้น ข้าพเจ้าจึงถูกเรียกตัวเข้ากองทัพ
ในวันที่ 9 กันยายน 1943 ลัทธิฟาสซิสต์ได้ล่มสลายลง ข้าพเจ้าถูกพวกเยอรมันจับเข้าคุกอีกครั้ง ที่อเล็กซานเดรีย อยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ด้วยเหตุที่ข้าพเจ้า ไม่ยอมทำงานให้กับพวกมัน และถูกส่งไปยัง ค่ายกักกันชาวโปแลนด์ และอีกหลาย ๆค่าย จนถึงเดือนเมษายน 1945 ทหารอังกฤษก็เข้ายึดค่ายได้สำเร็จ จากนั้นอีกห้าเดือนถัดมา ข้าพเจ้าก็ถูกส่งกลับมายังอิตาลี
ในช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าใช้ชีวิตอยู่ในคุก เป็นช่วงเวลาที่ ข้าพเจ้ารู้สึกว่ากระตือรือร้นที่สุด ช้าพเจ้าต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด และประสบความสำเร็จในเกือบทุกเรื่อง ข้าพเจ้าอุทิศตัวให้กับการวางแผน อย่างละเอียด แบบมือฉมัง ซึ่งสรุปภายใต้สโลแกนว่า “ กูจะไม่ยอมตาย แม้พวกมึงจะฆ่ากูก็ตาม” ซึ่งมันไม่ง่ายเลยที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ในสภาพของร่างกาย ที่เป็นหนังหุ้มกระดูก อยู่รวมกับ เหา เห็บ และหมัด กับความหิว และความเศร้าโศก
ถากถาง
และแล้วข้าพเจ้าก็ได้กลับมาถึงอิตาลีจนได้ ข้าพเจ้าพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง โดยเฉพาะกับคนอิตาเลียน ข้าพเจ้าพยายามใช้เวลาในการครุ่นคิดว่า พวกเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ในท้ายที่สุด ข้าพเจ้าก็พบว่า ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจ ข้าพเจ้าเอาแต่ขังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน
หลังจากนั้นได้ไม่นาน มีนิตยสารฉบับใหม่ได้ก่อตั้งขึ้นในมิลาน Candido และให้งานกับข้าพเจ้า ในทุกวันของการทำงาน ข้าพเจ้ารู้ว่าได้ถูกจับตาจากทางการ ข้าพเจ้าเป็นอย่างที่เคยเป็น เป็นตัวของข้าพเจ้าเอง และยังคงมีอิสระ อย่างไรก็ตาม ทางนิตยสารได้ให้ความสำคัญ กับการมีส่วนร่วมของข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะว่า ข้าพเจ้าเคยเป็นหัวหน้าบรรณาธิการมาก่อน
ในอีกไม่กี่เดือนถัดมา ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี Palmiro Togliatti ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ เขาอารมณ์เสียอย่างหนัก และเรียกนักข่าวคนที่คิดตัวละครล้อเลียน ที่มีรูจมูกสามรูเข้าพบ นักข่าวให้คำตอบไปว่า “ คนที่โง่เง่า และงี่เง่าเป็นสามเท่านี้ คือตัวผมเอง และนี่เป็นงานของผมที่ได้รับการยอมรับว่า มีค่ามากที่สุด ในฐานะนักข่าวการเมือง ในตอนนี้ ผู้ชายที่มีรูจมูกอยู่สามรู เป็นบุคคลผู้โด่งดังในอิตาลี และผมนี่แหละเป็นคนสร้างเขาขึ้นมา ผมยอมรับว่า ผมภูมิใจมาก เพราะมันประสบความสำเร็จ ในการกำหนดลักษณะของคอมมิวนิสต์ ด้วยปลายปากกา นั่นคือการใส่รูจมูกให้มีสามรู แทนที่จะมีแค่สอง มันไม่ใช่ความคิดที่เลว และมันทำงานได้ดีมาก ทำไมผมต้องถ่อมตัวด้วย ในเมื่อสิ่งที่ผมเขียน และภาพที่ผมวาด ในช่วงหลายวันก่อนการเลือกตั้ง ผมทำมันได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า ผมมีภาพ และข่าวจากหนังสือพิมพ์ ที่อาจทำให้ผมอยู่ได้อย่างไม่เป็นสุขนัก เป็นกระสอบเก็บไว้ที่ห้องใต้หลังคา ซึ่งใครก็ตามที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็มาขอผมอ่านได้‘’ [ ผมเข้าใจเอาเองว่า นักข่าวที่เขียนการ์ตูนล้อเลียนคนนี้ แท้ที่จริงก็คือ จีโอวานนี กัวรัชชี นี่เอง ]
เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน The Little World of Don Camillo ประสบความสำเร็จอย่างมากในอิตาลี และหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมซีรีส์แรก ของเรื่องราวทั้งหมด ไว้ในการพิมพ์ครั้งที่เจ็ด ผู้อ่านหลายคนได้เขียนบทความยาว ๆ เกี่ยวกับ The Little World of Don Camillo และมีอีกหลายคนที่เขียนจดหมายถึงข้าพเจ้า เกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือเรื่องอื่น ๆ ซึ่งตอนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกสับสนเล็กน้อย จนทำให้ข้าพเจ้า กระอักกระอ่วนใจเป็นอันมาก ถ้าหากต้องตัดสินใจทำอะไรลงไปกับ The Little World of Don Camillo
พื้นหลังของเรื่องราวเหล่านี้ ก็คือบ้านเกิดของข้าพเจ้าเอง ที่ Parma, Emilian Plain ริมแม่น้ำ Po ที่ซึ่งมีความหลงใหลทางการเมืองในอดีต ที่มักจะมีความรุนแรงเข้ามารบกวนเสมอ แต่ผู้คนแถบนั้นก็น่ารัก มีอัธยาศัยดี มีน้ำใจ และมีอารมณ์ขันสูง
มันต้องเป็นดวงอาทิตย์ที่ร้อนแรง และเต้นอยู่ในสมองของพวกเขาในหน้าร้อน หรือบางทีอาจเป็นหมอกหนา ๆ ที่รัดรึง รอบ ๆตัวพวกเขาในช่วงหน้าหนาว ตัวละครในเรื่องมีอยู่จริง และดังนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องจริง ที่ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องราวเหตุการณ์หนึ่งแล้ว มีบางคนเห็น และอ่านมันได้ในข่าว
ในความเป็นจริง ที่เกินกว่าจะจินตนาการได้ ที่ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ Peppone ผู้ซึ่งหงุดหงิดใจในระหว่างการประชุมทางการเมือง เพราะมีเครื่องบินผ่านมา และโปรยใบปลิวของฝ่ายค้านลงมา Peppone จึงวิ่งไปหยิบปืนกลขึ้นมา แต่กลับพบว่า เขาไม่สามารถพาตัวเองขึ้นไปยิงเครื่องบินได้ เมื่อข้าพเจ้าเขียนถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าพูดกับตัวเองว่า “ นี่มันโครตยอดเยี่ยมเลย” หลายเดือนถัดมาที่ Spilimberg พวกคอมมิวนิสต์ได้ยิงเครื่องบิน ที่โปรยใบปลิวจากฝ่านต่อต้านคอมมิวนิสต์จริง ๆ
ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับ The Little World of Don Camillo อีกแล้ว คุณอย่าได้คาดหวังว่า หลังจากเพื่อนที่ยากจนคนหนึ่ง ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งแล้ว เขาควรจะทำความเข้าใจกับมันเสียด้วย และข้าพเจ้าควรจะทำความเข้าใจกับมันด้วยไหม
ข้าพเจ้าสูง ห้าฟุต กะอีกสิบนิ้ว เขียนหนังสือมาทั้งหมดแปดเล่ม ทำภาพยนตร์เรื่อง People Like This ที่กำลังออกฉายไปทั่วอิตาลี หลายคนชอบดูหนัง และบางคนก็ไม่ชอบ เท่าที่ข้าพเจ้าเป็นกังวล หนังเรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเฉยเมย ไม่แยแสอะไร หลาย ๆสิ่งในชีวิตของข้าพเจ้า มันด้านชาไปแล้ว แต่นั่นมันไม่ใช่ความผิดของข้าพเจ้า มันเป็นเพราะสงคราม สงครามได้ทำลายสิ่งต่าง ๆที่มีอยู่ในตัวเราไปอย่างมากมาย เราเห็นคนตายมากเกินไป และบางคนก็อยู่มายาวนานเกินไป อ้อ! นอกจากข้าพเจ้าจะมีความสูง ห้าฟุต กะอีกสิบนิ้วแล้ว ข้าพเจ้ายังมีเส้นผมอยู่เต็มหัวอีกด้วย
เป็นอย่างไรบ้างครับ สำบัดสำนวนของ จีโอวานนี กัวรัชชี ผู้แต่ง The Little World of Don Camillo ที่แทบจะฉีกหัวใจของผู้ที่ถูกกล่าวถึงออกเป็นเสี่ยง ด้วยข้อความที่ถากถาง หยิก หยอก เสียดสี และทิ่มแทง แต่แฝงด้วยอารมณ์ขัน หากบางข้อความเราอาจไม่เข้าใจไปบ้าง ว่าแกเขียนมาทำไม ก็อาจเป็นเพราะว่า มันเป็นเรื่องที่รับรู้กันเฉพาะคนในยุคนั้น ที่อ่านไปปุ๊ป ก็รู้เลยว่ากล่าวถึงเรื่องอะไร หรือใคร ก็คาดเดากันเอาเองนะครับถึงความน่าจะเป็น
สุดท้าย
ก็ขอฝากไว้สักหน่อย หากท่านอยากสนับสนุนเราด้วยการซื้อหนังสือดี ๆสักเล่มอย่าง ไผ่แดง หรือหนังสือเล่มอื่น ๆ กรุณาคลิ๊กลิงค์ผ่านเรา ไปยังเว็บไซต์พันธมิตรของเรา ท่านสามารถซื้อหาสินค้าได้ในราคาปกติ เราจะรับค่าตอบแทนจากเว็บไซต์พันธมิตรเท่านั้น และไม่ขอรับสิ่งใดจากท่านเลย สินค้าในหมวดหมู่อื่นก็พอมีครับเชิญ ที่นี่ เลยครับ